Competency - based Education
โครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

          เป็นที่ทราบกันดีว่าวันนี้โลกของเรากำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเกือบทุกด้าน ทั้งระบบ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้ทันกับเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หลักสูตรคือกรอบและทิศทางที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยต้องยึดหลักของการพัฒนาสมรรถนะของเด็กไทย ที่มีทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ สามารถนำความรู้ที่มีไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง โดยครูต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้เชิงรุกให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม ให้นักเรียนได้เรียนรู้ในพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคน และได้เรียนรู้ในสิ่งที่นักเรียนสนใจ ถนัด และ ชื่นชอบ ซึ่งเป็นไปตามหลักพหุปัญญา (Multiple Intelligences) และความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences) โดยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวิธีการวัดและประเมินผลใหม่ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย

          หลักสูตรฉบับนี้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา(ฉบับปรับปรุง) โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารและครูในโรงเรียนสังกัดต่าง ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย และภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ได้เข้ามาร่วมพัฒนาและ จัดเวทีระดมสมอง เพื่อนำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการเปลี่ยนผ่านหลักสูตร ซึ่งต่อไปจะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาครู ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารคู่ขนานกันไปด้วย รวมทั้งประสานกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรเพื่อให้ดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน เช่น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (มหาชน) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) รวมถึงมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนระบบการรับนักศึกษาและการผลิตครู กระทรวงศึกษาธิการมีแผนที่จะเริ่มใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่นี้ในปีการศึกษา 2565 ที่ระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อม และระดับชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อมในปีการศึกษา 2566 และจะทยอยใช้ให้ครบทุกโรงเรียน ในปีการศึกษา 2567

          สุดท้ายนี้ ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณ คณะกรรมการ คณะทำงาน ตลอดจนหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมแรง รวมใจ มุ่งมั่น พัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับนี้ขึ้นมา จนได้เป็นฉบับร่างหรือกรอบหลักสูตร เพื่อนำไปทดลองใช้ และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสบความสำเร็จ ตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่าย กระทรวงศึกษาธิการพร้อมให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และตลอดไป

11 ตุลาคม 2564