Competency - based Education
โครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

          ความสำคัญของสาระการเรียนรู้ศิลปะ

          พัฒนาการการเรียนรู้ด้านสุนทรียศาสตร์ (ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์)

          เด็กประถมต้น (ช่วงชั้นที่ 1) เป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ขยายความจุอย่างมากจึงเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสทองในการพัฒนาสมองที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 

1) พัฒนาสมองส่วนเชื่อมต่อ (Corpus Callosum) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสมองซีกซ้ายและซีกขวา ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทั้ง Psychomotor ความเข้าใจเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ รวมถึงการทำงานเซลล์กระจกเงา (Mirror Neurons) ใน Premotor Cortex ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่เรียนรู้จากการสังเกตและเลียนแบบผู้อื่น 

2) พัฒนาการทำงานของสมองส่วนหน้าให้เกิดโครงข่ายของเซลล์ประสาทในชุดที่รับรู้ความละเอียดประณีต ซับซ้อน การตัดสินใจ การคิดวิจารณญาณ การสะท้อนคิดอย่างลึกซึ้ง (Executive Function) 

3) การพัฒนาของสมองส่วนหน้าที่ไปช่วยกำกับการทำงานของสมองส่วน Limbic System และ Amygdala ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความทรงจำ 

4) การพัฒนาสมองส่วน Cerebellum ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย มีจังหวะ ท่วงที ลีลา และการทำงานของร่างกายทุกส่วนกับขอบเขตและมิติของพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยศิลปะทั้งทัศนศิลป์และดนตรีเป็นฐานปฏิบัติเรียนรู้ และสามารถกระตุ้นพัฒนาการของสมองทั้ง 4 หน้าที่ดังกล่าวได้โดยตรง

          การทำงานของสมองทั้ง 4 ส่วนนี้ สามารถจะกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพด้วยการเรียนรู้ฝึกฝน
ด้านศิลปะ ทั้งทัศนศิลป์ ดนตรี และนาฏศิลป์ ผ่านทั้งกระบวนการการรับรู้สัมผัสสุนทรียภาพ และกระบวนการสร้างงานศิลปะ รวมทั้งการใช้ศิลปะเพื่อการพัฒนาจิตใจ (Contemplative Arts) มองเห็นความสัมพันธ์
ของความรู้สึกที่มีผลต่อการทำงานและการพัฒนาด้านจิตใจ ถ้าหากพลาดการใช้โอกาสแห่งการเชื่อมโยงของเซลล์สมองชุดเหล่านี้ เซลล์สมองจะตัดวงจรนี้ออกโดยอัตโนมัติ และยากที่จะสร้างขึ้นใหม่ในวัยที่โตขึ้น

          ลักษณะเฉพาะ/ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้

          ธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนในช่วงชั้นที่ 1 นี้ เป็นวัยที่กระตือรือร้นในการเล่น กล้าทดลองหาประสบการณ์ตรงด้วยตนเองอย่างไม่กลัวถูกผิด พร้อมที่จะสร้างสรรค์ผลงานจากความฝัน ความทรงจำ ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น การประดิษฐ์ การถ่ายทอดจินตนาการ นักเรียนควรได้ทดลองเล่น เช่น เล่นกับผลกระทบของสี วัสดุ สิ่งที่ใช้ในการสร้างสรรค์งาน เล่นกับเสียงที่มีความแตกต่าง และการละเล่นแบบต่าง ๆ ที่มีทั้งบทร้อง ด้วยลีลาและท่าทางที่หลากหลาย นักเรียนจะค่อย ๆ เห็นและยอมรับความหลากหลายของงานศิลปะทุกแขนง ที่เป็นการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกทั้งของตนเองและหมู่คณะ

          นักเรียนในช่วงชั้นนี้ ชอบที่จะอ่านโลกและให้ความหมายกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ชอบมีเพื่อนเล่นและเล่นเป็นกลุ่ม ร่วมกันสร้างเรื่องราวโดยนำความรู้สึกและความเข้าใจ ผนวกกับจินตนาการ ออกมาเป็นงานสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทุกแขนง นักเรียนจะเริ่มตระหนักถึงความสัมพันธ์ของการนำความรู้สึกนึกคิดนั้นมาบอกเล่าใหม่ ที่แสดงถึงประสบการณ์ของนักเรียน หรือประสบการณ์ที่นักเรียนได้มีร่วมกับผู้อื่น

          จุดเน้นการพัฒนา

          ด้านที่ 1 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเจตคติ (Affective Domain) ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิดความซาบซึ้ง ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจ คุณธรรม และค่านิยม ควรได้รับการส่งเสริมให้สามารถซึมซับรับรู้คุณค่า ความงาม ความประณีต สุนทรียภาพ ในธรรมชาติและสิ่งรอบตัว พร้อมทั้งฝึกฝนกระบวนการทางศิลปะ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการใช้ศิลปะเพื่อการพัฒนาจิตใจ (Contemplative Arts) เพื่อการสะท้อนย้อนมองถึงสภาวะจิตและกาย และสามารถจัดการตนเองให้เป็นปกติพร้อมที่จะสร้างผลงานศิลปะทั้งในด้านทัศนศิลป์ดนตรี และนาฏศิลป์ นักเรียนไม่เพียงมีความรู้ทางด้านศิลปะหรือมีทักษะในการสร้างงานศิลปะเท่านั้นแต่ควรจะได้พัฒนาถึงระดับที่เกิดความตระหนักรู้เชิงคุณค่า และมีทัศนคติเชิงบวก ควรฝึกให้นักเรียนกล้าสร้างสรรค์งานและนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย และฝึกการรับฟังความคิดเห็นที่มีผลต่อการพัฒนางานศิลปะทั้งของตนเองและของผู้อื่นเพื่อสื่อสารและลดช่องว่างระหว่างสิ่งที่ตนเองเห็นกับผลงานที่สร้างขึ้น รวมถึงสิ่งที่ผู้อื่นเห็นและรับรู้

          ด้านที่ 2 การผสานศิลปะสากลกับศิลปะและวัฒนธรรมไทย เป็นกระบวนการพัฒนาความเป็นพลเมือง
ที่มั่นคงด้วยการมีรากฐาน ภูมิปัญญา ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย อย่างทัดเทียมกับสากล ด้วยความภาคภูมิใจ สำหรับเด็กวัยนี้จะไม่เพียงมีผลในการกล่อมเกลาทางด้านสุนทรียภาพ แต่ไปถึงสุนทรียภาพที่แฝงอยู่ในภูมิธรรม ภูมิปัญญาไทย สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ที่กำลังสร้างความสัมพันธ์ของตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างแนบแน่น

          การนำไปใช้ในชีวิตจริง

          ระดับตนเอง การนำสุนทรียภาพไปใช้ในชีวิต คือ เป็นผู้มีสายตามองเห็นคุณค่า ความงามของสรรพสิ่งรอบตัว เกิดความคิดเชิงบวกและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะและสุนทรียภาพในชีวิต
และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตและทำงานอย่างมีศิลปะ

          ระดับชุมชนและสังคม รู้จักการใช้งานศิลปะเป็นส่วนประกอบสร้าง แรงบันดาลใจ แรงศรัทธาเสริมเอกภาพของกลุ่มคน ชุมชน สังคม โดยมีศิลปะเป็นเครื่องจรรโลงจิตใจ และน้อมนำไปสู่การสร้างงานศิลปะสาธารณะกุศล ศิลปะเพื่อชุมชน ศิลปะในวัฒนธรรมประเพณี  ในวาระ หรือเทศกาลที่สำคัญต่าง ๆ

          การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ 

          บูรณาการระหว่างทัศนศิลป์ ดนตรี และนาฏศิลป์ อย่างสอดคล้องและกลมกลืน และบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนี้

          ภาษาไทย/ ภาษาอังกฤษ  วรรณกรรม ภาษา และดนตรี นาฏศิลป์ เป็นสื่อประกอบที่เกื้อกูลกันเป็นการฝึกทักษะทางภาษาของเด็กในวัยช่วงชั้นที่ 1 เป็นอย่างดี ได้ออกเสียงที่ชัดเจน มีจังหวะ มีลีลามีท่วงทำนอง ทำให้การเรียนรู้คำกลอน บทร้องเล่น เป็นการเรียนที่มีความรื่นรมย์ ลื่นไหล มีความสุข และสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ได้ตรงกับความหมาย เกิดปฏิภาณไหวพริบในการใช้ภาษา และเป็นที่มาของคลังคำที่หลากหลาย เด็กในวัยนี้สามารถใช้การวาดภาพเป็นสื่อถ่ายทอดแทนภาษาเขียนเพื่อให้ตนเองเกิดความเข้าใจความหมาย หรือบันทึกเรื่องราวที่เป็นความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน เพื่อทดแทนชุดภาษาที่ไม่เพียงพอ และสามารถสื่อกับผู้อื่นให้เข้าใจความคิดและความหมายเหล่านั้น

          สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม เป็นสื่อในการถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ ความผูกพันของครอบครัว โรงเรียน และชุมชนโดยรอบ นำเสนอองค์ประกอบของพื้นที่โดยการใช้แผนผัง แผนที่ การกำหนดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทิศทาง ขอบเขตในระดับต่าง ๆ ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผ่านการดูงานจิตรกรรม อ่านตำนานและบันทึกเป็นภาพวาด ทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่ไกลตัว (Space and Time) เพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกและระบบธรรมชาติก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้น

          คณิตศาสตร์  ในเรื่องเส้น รูปร่าง รูปทรงขนาด ความหนาบาง พื้นที่ พื้นผิว และสีอ่อนแก่ การจำแนก แยกแยะ จัดกลุ่ม จัดองค์ประกอบศิลปะด้วยเส้นและรูปร่าง รูปทรงเรขาคณิต ทั้งแบบสมบูรณ์และแบบแตกลาย หรือขยายอย่างมี Pattern การจัดองค์ประกอบศิลป์ ด้วยจังหวะของรูปและที่ว่าง (Solid and Void) ทั้งบนหน้ากระดาษ หรือการแสดงบนเวที ตลอดจนค่าความยาวของเสียง การเกิดระดับเสียงในดนตรี

          วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ  การสำรวจและสังเกตธรรมชาติเป็นกระบวนการร่วมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ ที่ช่วยให้เด็กรู้จักและเข้าใจสรรพสิ่งในธรรมชาติด้วยการสัมผัสและมีประสบการณ์ตรง สามารถเห็นรายละเอียดและระบุ ตั้งคำถามเพื่อการสืบค้นที่มาของปรากฏการณ์ต่าง ๆ และกระบวนการแปรรูปวัสดุธรรมชาติเพื่อนำมาสร้างงานศิลปะ เช่น สีเพื่อการวาดภาพ ดินสำหรับงานปั้น ทั้งนี้ เด็กจะได้เรียนรู้ถึงวิธีการสกัดสีด้วยวิธีง่าย ๆ จากการบด คั้น ดอกไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ฝน ดิน หิน และการทดลองเพิ่มคุณสมบัติของสีด้วยน้ำมะนาว น้ำขี้เถ้า หรือการเตรียมดินปั้น ด้วยกระบวนการคัดแยกย่อย กรอง ละลาย กระบวนการเล่นนี้ นอกจากเด็กจะได้รู้ถึงที่มาของวัสดุสำคัญที่ใช้สร้างชิ้นงานศิลปะแล้วยังได้ความเข้าใจพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน