การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้
ทักษะ เจตคติและคุณลักษณะต่างๆ อย่างเป็นองค์รวมในการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหาและการใช้ชีวิต
เป็นการเรียนรู้ที่ต้องเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันเพื่อให้สามารถใช้การได้จริงในสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจน
เป็นการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้
ต้องบูรณาการมากขึ้น หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงกำหนดให้ผู้เรียนพัฒนาสมรรถนะผ่าน 5 ขอบข่ายการเรียนรู้
ดังนี้
สุขภาวะกายและจิต
การมีสุขภาพกายและจิตที่ดีส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การสร้างวินัยในการบริหารจัดการตนเองได้อย่างสมดุลทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ปรับตัวทางอารมณ์และสังคมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง รู้ทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสมดุลชีวิตที่ดี สามารถฟื้นคืนสภาพจากปัญหาได้อย่างเร็ว ตลอดจนมีความฉลาดรู้ด้านสุขภาพและมีวิถีชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาวะอย่างสมดุลทั้งของตนเองและสังคมร่วมกัน สามารถนำตนเองในการพัฒนาตนเองและชีวิต และอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน
ภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม
ภาษาและศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ซึ่งคนในแต่ละสังคมใช้ทักษะทางภาษาและศิลปะในการสื่อสาร ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด
การศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ ในขณะเดียวกันการสร้างสรรค์งานศิลปะต้องอาศัยทักษะทางภาษาด้วยเช่นกันซึ่งอยู่ในรูปแบบวัจนภาษาหรืออวัจนภาษาก็ได้ นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการพบปะแลกเปลี่ยนกับคนในสังคมที่หลากหลายมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาที่เข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย
โลกของงานและการประกอบอาชีพ
ในโลกอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอาชีพ เนื่องจาก
ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม การปฏิวัติดิจิทัลที่ทำให้เกิด
การเคลื่อนย้ายตลาดทุนและตลาดเงินอย่างรวดเร็ว รูปแบบการค้าขายที่เปลี่ยนไป จึงต้องเตรียมคน
ในเรื่องทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการวิเคราะห์งานและการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะอาชีพ
อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จในงานและการประกอบอาชีพ
คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในการแก้ปัญหา การค้นคว้า การสร้างหรือพัฒนาสิ่งต่างๆ
และการทำงานจริงนั้นต้องอาศัยความรู้หลายด้านมาช่วย ไม่ได้แยกใช้ความรู้เป็นส่วนๆ โดยคณิตศาสตร์และ
วิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติและการศึกษาเชิงนามธรรม โดยอาศัย
กระบวนสืบเสาะหาความรู้ส่วนเทคโนโลยีเป็นกระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหา ปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนา
สิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ โดยกระบวนการแก้ปัญหาหรือการทำงานทางเทคโนโลยีนั้นคล้ายกับ
กระบวนสืบเสาะหาความรู้เช่นกัน โดยอาศัยการต่อยอดความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในการ
สร้างสรรค์นวัตกรรมหรือสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อมาอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์
สังคมและความเป็นมนุษย์
เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่
และผู้คนในสังคมมากขึ้นทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ ความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมส่งผลกระทบ
ทั้งชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและแนวโน้มความขัดแย้งในสังคม
ที่รุนแรงมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม และการขาดจิตสาธารณะ ด้วยเหตุนี้
จึงจำเป็นต้องพัฒนาผู้เรียนทั้งในเรื่องความเป็นพลเมืองโลก การเป็นพลเมืองดิจิทัล สร้างวัฒนธรรมที่เห็น
คุณค่าความเป็นมนุษย์และดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ควบคู่กับการธำรงรักษาอัตลักษณ์ของประเทศ