Competency - based Education
โครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดร. อัมพร พินะสา
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          จากสถานการณ์ของโลกในศตวรรษที่ 21 วิทยาการต่าง ๆ มีความเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา(ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้กิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการ เปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีเป้าหมายให้ ผู้เรียนทุกระดับเป็นผู้มีความรู้ ทักษะและใฝ่เรียนรู้ มีทักษะในการด้ารงชีวิตใน โลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ และมีจิต สาธารณะ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะที่รับผิดชอบการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว จึงได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาไทยในยกระดับคุณภาพของนักเรียนให้ทัดเทียมนานาชาติ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 และได้การกำหนดกรอบและทิศทางของการพัฒนา ศึกษาเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ผ่านความร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ภายใต้โครงการ Country Program

ต่อมาท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ท่านตรีนุช เทียนทอง) ได้กำหนดให้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนหรือ Quickwin ท่านได้กรุณาแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดทำและพัฒนา(ร่าง)หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งมีท่านสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และคณะอนุกรรมการคณะต่างๆ เพื่อดำเนินงานต่อเนื่องในการยกร่างกรอบหลักสูตร การเตรียมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติ เพื่อให้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล เป็นหลักสูตรที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และความต้องการของชุมชนที่มีบริบทแตกต่างกัน จึงมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นใน 3 รูปแบบ ได้แก่

  • จัดเวทีระดมสมอง ในประเด็นที่สำคัญและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 ครั้ง เวทีตามประเด็นได้แก่ เป้าหมายของหลักสูตร แนวทางการจัดการเรียนรู้ การผลิตและพัฒนาครูให้พร้อมสำหรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นต้น เวทีตามกลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กลุ่มภาคเอกชน  กลุ่มครู กลุ่มผู้บริหารโรงเรียน กลุ่มอาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการไปแล้วจำนวน 5  ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมมากกว่า 10,000  คน
  • จัดการทดลองใช้หลักสูตรในโรงเรียนนำร่อง ที่เข้าร่วมโครงการวิจัยในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 265 โรงเรียน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 226 โรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน  17  โรงเรียน และ สังกัดสำนักงานการปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 22  โรงเรียน  รวมทั้งสิ้น 265 โรงเรียน
  • จัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม โดยเปิดรับความคิดเห็นผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียของกระทรวงศึกษาธิการ และเว็ปไซต์หลักสูตรฐานสมรรถนะ (cbethailand.com) ที่จะเปิดตัวในวันนี้ ซึ่งในขณะนี้มีผู้สนใจตอบสอบถามแล้วทั้งสิ้น 1,247 ท่าน และคาดว่าจะมีผู้สนใจอีกจำนวนมากที่จะส่งความเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

                  สุดท้ายนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และร่วมกันจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช… ขึ้น จนพร้อมสำหรับการนำไปใช้ทดลองในโรงเรียนนำร่องในครั้งนี้

11 ตุลาคม 2564