Competency - based Education
โครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

        ความสำคัญของสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารที่สำคัญของคนไทย  ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งระดับบุคคลและระดับสังคม เป็นเครื่องมือสำหรับการคิด การรู้คิดด้วยภาษาไทยจะช่วยให้การเรียนรู้ และการแสวงหาความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภาษาไทยเป็นสำนึกร่วม เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างสรรค์และการเข้าถึงสุนทรียภาพ ดังนั้น การใช้ภาษาไทยจึงเป็นสมรรถนะที่ต้องศึกษาและฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ

 สาระการเรียนรู้นี้มีสมรรถนะเฉพาะ 4 สมรรถนะ ได้แก่
1) การฟัง การดู และการพูดเพื่อพัฒนาการคิด
2) การอ่านเพื่อพัฒนาการคิด
3) การเขียนเพื่อพัฒนาการคิด
4) การเข้าใจธรรมชาติของภาษาและการใช้ภาษาไทย    

       สมรรถนะเฉพาะทั้ง 4 สมรรถนะดังกล่าว มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสมรรถนะหลักทั้ง 6 สมรรถนะ และบูรณาการกันเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้น 12 ข้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายของช่วงชั้นนี้

        ผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 2 ทั้ง 12 ข้อ นำไปกำหนดเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 โดยต้องคำนึงถึงการบูรณาการสมรรถนะหลักและสมรรถนะเฉพาะด้วย เพื่อให้เมื่อผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นปีแล้ว จะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นตามที่หลักสูตรกำหนดไว้

        ลักษณะเฉพาะ/ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้

การเรียนรู้ภาษาไทยในช่วงชั้นที่ 2 เป็นการเรียนรู้การใช้ภาษาที่นักเรียนต้องได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นจากการเรียนรู้ในช่วงชั้นที่ 1 

นักเรียนจะได้รับการพัฒนาสมรรถนะการฟังจากการฟังและการดูสื่อต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และประเมินความน่าเชื่อถือจากการฟังหรือการดูอย่างมีเหตุผล ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสมรรถนะการพูด ทั้งการพูดแสดงความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องเหมาะสมกับบุคคล โอกาสและกาลเทศะ รวมทั้งมีมารยาทในการฟัง การดู และการพูด

นอกจากนี้ นักเรียนยังต้องได้รับการพัฒนาสมรรถนะการอ่าน เพื่อให้สามารถอ่านบทอ่านประเภทต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระ แยกแยะข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น จับใจความสำคัญของเรื่องรวมทั้งนำความรู้ความคิดจากเรื่องไปใช้ในชีวิตจริง และยังต้องได้รับการพัฒนาสมรรถนะการเขียนเพื่อให้สามารถเขียนสื่อสารได้ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยใช้คำและประโยคได้อย่างถูกหลักการใช้ภาษาในการสื่อความหมาย เพื่อสื่อสารและเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมารยาทในการอ่านและการเขียน

จุดเน้นการพัฒนา

การสอนภาษาไทยในช่วงชั้นที่ 2 เป็นการพัฒนาสมรรถนะการใช้ภาษาของนักเรียน ผ่านการเรียนรู้หลักภาษาไทยและโครงสร้างภาษาไทยจากสื่อต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารในบริบทต่าง ๆ และเกิดสมรรถนะการใช้ภาษาในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้ในช่วงชั้นที่ 2 ยังคงให้ความสำคัญกับเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมายเช่นเดียวกับการจัดการเรียนรู้ในช่วงชั้นที่ 1 โดยในช่วงชั้นนี้ นักเรียนจะมีการปรับตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้ได้มากขึ้น ครูจึงควรจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องและส่งเสริมความสามารถในการรับรู้และการเรียนรู้ตามศักยภาพของนักเรียน ทั้งการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ตลอดจนความซาบซึ้งในคุณค่าและความงามของภาษาไทย โดยออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายและสอดคล้องกับพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

        การเข้าใจธรรมชาติของภาษาและการใช้ภาษาไทยในช่วงชั้นนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้นักเรียน
ได้ฝึกการฟัง การดู การพูด การอ่าน และการเขียน ผ่านการเรียนรู้หลักการใช้ภาษาและโครงสร้างภาษาไทย       จากสื่อต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะการใช้ภาษาที่สูงขึ้นเพื่อสื่อสารในบริบทต่าง ๆ  และเกิดสมรรถนะ    การใช้ภาษาในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ การสอนอ่านเขียนจึงนอกจากเพื่อให้นักเรียนสามารถอ่านเขียน
ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจนแล้ว ยังเพิ่มความคล่องแคล่วในการอ่านและการเขียนมากยิ่งขึ้น จากนั้นจะเป็นการพัฒนา การเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าใจความหมายของเรื่อง การจับใจความสำคัญ การคิดวิเคราะห์ และการนำไปใช้ในชีวิตจริง อย่างเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์

        การใช้ภาษาไทยเพื่อให้สามารถสื่อสารได้ทั้งการเรียนในชั้นเรียนและทุกเวลาที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์สื่อสาร กับผู้อื่น นักเรียนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาหรือฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ

การเรียนรู้ภาษาไทยในช่วงชั้นที่ 2 นี้ นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านการรับสารต่าง ๆ ทั้งจากการฟัง ดู และการอ่าน เพื่อให้สามารถส่งสาร คือ การเขียนและการพูดได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล ด้วยเหตุนี้ การออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนอกจากจำเป็นต้องเชื่อมโยงบนฐานของสถานการณ์และบริบทต่าง ๆ แล้ว ยังต้องมีการบูรณาการร่วมกับวิชาอื่น ๆ เช่น

        คณิตศาสตร์  อ่านและเขียนแผนผัง แผนที่ แผนภูมิ และกราฟ ฟัง ดู และอ่านโจทย์คณิตศาสตร์ ตีความ แก้ปัญหา พูดนำเสนอ แสดงวิธีคิด เขียนคำที่สื่อความหมายถึงการบวก การลบ การคูณ การหาร ใช้ภาษาและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ในการสื่อสาร การสื่อความหมาย และการนำเสนอได้อย่างอย่างถูกต้องเหมาะสม

       ภาษาอังกฤษ  เรียนรู้ ฟัง ดู และพูดคำศัพท์ เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

       ศิลปะ  วาดภาพประกอบเรื่องราวที่ได้ฟังหรือดู พูดหรือเขียนสื่อสารความคิด ความรู้สึก หรือเรื่องราวจากผลงานทางทัศนศิลป์ ดนตรี และนาฏศิลป์

       สุขศึกษาและพลศึกษา  อธิบายหรือนำเสนอความสำคัญหรือการปฏิบัติตนจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ เช่น วิธีการดูแลสุขภาพ เพศศึกษา การออกกำลังกายและกีฬา

        สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม ใช้แผนที่ ภาพถ่าย อธิบายลักษณะสำคัญของชุมชน และประเทศ การจัดทำแผนการใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียนรู้และวิเคราะห์เรื่องราวจากบทอ่านที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวันสำคัญประเพณีและวัฒนธรรม ชุมชน ท้องถิ่น สภาพแวดล้อม ศาสนา พิธีกรรม ประวัติของท้องถิ่น นิทานในท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน อ่านข้อมูลจากแผ่นพับสำหรับโฆษณาหรือป้ายโฆษณาสินค้า หรือแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น สภาพอากาศ แผนที่การเดินทาง

       วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ  สื่อสารความรู้ความคิดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การนำเสนอผลงานจากการสำรวจหรือศึกษาสิ่งต่าง ๆ ทั้งการพูดหรือการเขียนอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจโดยมีการอ้างอิงที่ถูกต้อง