Competency - based Education
โครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

ที่มาและกรอบแนวคิด

ที่มาและกรอบแนวคิด

ระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยมีกระแส  พระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“…การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมถึงการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบันที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกัน ดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกซึ้งและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดีมีประสิทธิภาพแน่นอน มาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่มให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพของบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติมีโอกาสได้พัฒนา อย่างเต็มที่และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมือง ได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง…”

พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกครบรอบ 100 ปีของการสื่อสารของชาติ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 14 กรกฎาคม 2526

จากพระราชกระแสที่ได้อัญเชิญมาเตือนสติไว้นี้ทำให้เกิดความตระหนักว่า สมรรถนะการสื่อสาร เป็นสมรรถนะสำคัญซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 การสื่อสารในบริบทของศตวรรษที่ 21 จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การพูด การเขียน และสื่อดิจิทัลที่หลากหลาย แต่ยังรวมถึงทักษะการฟัง (Fullan, 2013: 9) และ Alberta Education (2011: 30) ได้ระบุว่า การสื่อสารเป็นการถ่ายทอดความคิดผ่านคำพูด การเขียน หรือไม่ใช่คำพูด ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับผู้อื่น โดยพิจารณาว่า วัฒนธรรม บริบทและประสบการณ์ส่งผลกระทบต่อการส่งข้อความอย่างไร ผู้เรียนแสดงความเคารพ ความเห็นอกเห็นใจและความรับผิดชอบเมื่อสื่อสารกับผู้อื่น และ Cambridge university Press (2019: 5) ระบุว่า การสื่อสารเป็นทักษะอาชีพและชีวิตที่จำเป็นซึ่งทำให้เราสามารถแบ่งปันข้อมูลและแนวคิด รวมถึงแสดงความรู้สึกและ ข้อโต้แย้ง (Cenere et al., 2015) และ  เป็นกระบวนการที่ได้รับอิทธิพลจากความซับซ้อนของพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น พฤติกรรมที่ไม่ใช่คำพูด และรูปแบบของการตีความและการตีความความหมายของเหตุการณ์ แต่ละรูปแบบ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นทักษะที่สามารถพัฒนาและเสริมสร้างได้ โดยระบุขอบเขต ของการสื่อสารไว้ดังนี้ 

1) การใช้ภาษา ที่เหมาะสมกับบริบท  

2) การจัดการการสนทนา 

3) การมีส่วนร่วม ด้วยความมั่นใจและความชัดเจนอย่างเหมาะสม ดังนั้น จะเห็นว่า การสื่อสารที่ดีจะช่วยให้บุคคลแสดงออก ถึงความต้องการและความรู้สึกของตนเอง บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี และเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไปในอนาคต ซึ่งทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการยกระดับการพัฒนาประเทศในทุกมิติไปสู่เป้าหมาย การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่ขับเคลื่อนโดยภูมิปัญญาและนวัตกรรมในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า โดยเน้นความสำคัญของการสื่อสารในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ปราฏในแผนแม่บทพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และแผนแม่บทการพัฒนาการเรียนรู้ ดังจะเห็นได้ว่ามีการวางมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 ในรูปแบบของผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcomes of Education : DOE Thailand) ได้กำหนดคุณลักษณะของคนไทย 4.0 ที่ตอบสนองวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยกำหนดสมรรถนะการสื่อสาร ได้แก่ การสื่อสาร ทักษะ การสื่อสาร สื่อสารเชิงบวก ไว้ในคุณลักษณะด้านที่ 2 ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation Co – creator) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2561)

        สมรรถนะการสื่อสาร เป็นสมรรถนะสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้มีสามารถในการรับและส่งสาร
มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเอง
เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้ง
การเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับ หรือไม่รับข้อมูลข่าวสาร
ด้วยหลักเหตุผล และความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบ
ที่มีต่อตนเองและสังคม การส่งสารสามารถผ่านสื่อต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งสื่อบุคคล สื่อธรรมชาติ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อระคน ในแนวทางประจักษ์นิยมแบบเฉพาะตนนั้นนอกจากจะยอมรับข้อมูลเชิงประจักษ์จากประสาทสัมผัสทั้งห้าแล้ว ช่องทางการรับรู้ในที่เกิดจากอายตนะทาง “ใจ” ที่รับรู้ข้อมูล           ที่เป็นความคิดและอารมณ์ ก็ถือว่าการรับรู้ข้อมูลจากช่องทางใจนี้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสัมพันธภาพของมนุษย์กับตนเองและโลกภายนอก คุณค่าของความรู้สำหรับบุคคลเป็นทั้งประโยชน์นิยมและปฏิบัตินิยม โดยถือว่าความรู้ต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายได้และเป็นหนทางสู่การปฏิบัติ (ปุณยนุช ชุติมา, 2518)

สมรรถนะสื่อสาร หมายถึง การรับและส่งสารบนความเข้าใจ ความเคารพในความคิดเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมทั้งสามารถตัดสินใจเลือกใช้สื่อ สร้างสื่อและกลวิธีการสื่อสารให้วัจนภาษาและอวัจนภาษา ให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้สามารถใช้ภาษาไทยได้ดี มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษ ภาษาที่ ๓ สื่อดิจิทัลและสื่อประสมได้เป็นอย่างดี

จากนิยามสมรรถนะการสื่อสาร (Communication – CM) ที่กำหนด สามารถแบ่งองค์ประกอบ เป็น 3 ด้าน ได้ดังนี้

      1. การรับสารอย่างมีสติและถอดรหัสเพื่อให้เกิดความเข้าใจ หมายถึง การรับสารด้วยความตั้งใจ ใส่ใจโดยใช้ประสาทสัมผัสทุกอย่างในการรับสารที่ได้ถูกถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของผู้ส่งสารจากสื่อต่าง ๆ โดยสามารถรับข้อมูล สารสนเทศ องค์ความรู้ จากสารและประสบการณ์ ที่ถูกถ่ายทอดมา การรับสารควรจะให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม

      2. การรับและส่งสารด้วยความเคารพในความคิดเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่าง หมายถึง การสื่อสารที่มีความเคารพในความคิดเห็นและวัฒนธรรมการใช้สื่อต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งสื่อบุคคล สื่อธรรมชาติ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อระคน โดยได้มีการถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะ ที่สื่อสารมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล สารสนเทศ องค์ความรู้และประสบการณ์ รวมถึง การเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ  ในการรับและส่งสารนั้นๆ จะมีการเลือกรับ หรือไม่รับข้อมูล สารสนเทศ ด้วยหลักเหตุผล การเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและเข้าใจบริบทสังคมที่มีวัฒนธรรม ที่แตกต่างทั้งในระดับชุมชน ชาติ และสากล

      3. การผลิตสื่อและกลวิธีการสื่อสารให้บรรลุเป้าหมายและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง การสร้างสื่อต่าง ๆ โดยพิจารณาทำสื่อและกลวิธีการสื่อสารใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับบุคคล ชุมชน  กาลเทศะ ที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสร้างสรรสังคมที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้การออกแบบ การผลิตสื่อและกลวิธีจะต้องให้สามารถสื่อสารได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีความรับผิดชอบต่อสารที่สื่อออกมา ต่อบุคคลที่สื่อสารไปถึง และต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างทั้งในระดับชุมชน ชาติ และสากล

สพฐ (2551) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้มีการเสนอแนวคิดของการนำเอา สมรรถนะการสื่อสาร เป็นหนึ่งในห้าสมรรถนะหลักมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยได้ให้ความหมายในครั้งนั้นว่า “ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการับและส่งสาร มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะ ของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหา ความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับและไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผล และความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม