Competency - based Education
โครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ

         สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติเป็นสาระที่เน้นการสืบเสาะ (inquiry) เพื่อเข้าใจระบบธรรมชาติ การจัดประสบการณ์เรียนรู้ในช่วงชั้นนี้เริ่มจากการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สนใจและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น เน้นให้ผู้เรียนสืบเสาะและแก้ปัญหา โดยใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน ใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลอย่างปลอดภัย สร้างเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรับตัวและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม และตระหนักถึงการใช้ทรัพยากร

เป้าหมายสำคัญของการจัดประสบการเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ ช่วงชั้นที่ 1

  1. เข้าใจแนวคิดและความรู้พื้นฐานในวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สามารถใช้และเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม รู้เท่าทัน และปลอดภัย
  2. เป็นผู้ที่มีจินตนาการ จิตวิทยาศาสตร์ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมในการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์
  3. ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์กับระบบธรรมชาติ ผลของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาการต่าง ๆ ที่มีต่อมวลมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระบบธรรมชาติ

ลักษณะเฉพาะ/ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้
          วิทยาศาสตร์ (Science) เป็นความรู้ที่เกิดจากสติปัญญาและความพยายามของมนุษย์ในการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติทั้งบนโลกและในเอกภพ วิทยาศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับ การสืบเสาะหาคำตอบเพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติ การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความรู้ จินตนาการ เครื่องมือต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูล จัดรูปแบบของข้อมูลใช้สมรรถนะด้านภาษา เพื่อทำความเข้าใจข้อมูล สื่อสารความคิด และนำเสนอข้อมูล ดังนั้น ความรู้ กระบวนการ และจิตวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญกับการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิต และการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสมดุลกระบวนการสืบเสาะ (Inquiry Process) เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเรียนรู้และอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ เชิงวิทยาศาสตร์ ระหว่างการสืบเสาะผู้เรียนจะต้องใช้การให้เหตุผลเชิงตรรกะ (Logic) หลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Evidence) จินตนาการ และการคิดสร้างสรรค์ เป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ รอบคอบ มีอิสระและไม่เป็นลำดับขั้นที่ตายตัวมีธรรมชาติในการเรียนรู้ ดังนี้

  • ปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนโลกหรือในเอกภพที่เกิดขึ้นอย่างเป็นแบบรูป (Pattern) สามารถเข้าใจได้ ด้วยสติปัญญา วิธีการศึกษาที่เป็นระบบ มนุษย์สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้
  • แนวคิดทางวิทยาศาสตร์มีความไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากพบหลักฐาน (Evidence) ใหม่ที่นำไปสู่การสร้างคำอธิบาย หรือองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์
  • ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีความคงทน และเชื่อถือได้ เพราะการสร้างการอธิบายทางวิทยาศาสตร์ต้องผ่านวิธีการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นระยะเวลาหนึ่งจนมั่นใจในคำอธิบายนั้น
  • วิทยาศาสตร์เชื่อถือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากการสังเกต ทดลอง หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์
    เทคโนโลยี (Technology) เป็นการผสานทักษะ เทคนิค วิธีการ และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน
    ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน และเป็นระบบ รวมถึงการระบุเหตุผลของคำตอบ ใช้เทคโนโลยี
    ในการสร้างชิ้นงานอย่างง่าย และรู้จักเข้าถึงแหล่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมและปลอดภัย การรู้เทคโนโลยี และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบมีความสำคัญกับการนำไปใช้ร่วมกับวิทยาการแขนงต่าง ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข จุดเน้นการพัฒนา การจัดประสบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ในช่วงชั้นที่ 1 ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ผ่านหัวข้อต่อไปนี้

จุดเน้นการพัฒนาผ่านแต่ละหัวข้อ มีดังนี้

  • ทรัพยากรธรรมชาติ

    ผู้เรียนควรได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะ สมบัติและความสำคัญของดิน
และน้ำ รวมถึงประโยชน์ของดินและน้ำต่อมนุษย์ จึงต้องดูแลเพื่อให้มีใช้ได้อย่างยั่งยืน สมดุล ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ผู้เรียนควรประพฤติตนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า ลดการใช้เมื่อไม่จำเป็น

  • สิ่งแวดล้อม

             ผู้เรียนควรได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ วัฏจักรชีวิตของพืชดอกและสัตว์์ ผลของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่มีต่อพืช และสัตว์ และการดูแลและปกป้องสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์

  • ปรากฏการณ์ธรรมชาติและภัยอันตราย

             ผู้เรียนควรได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์กลางวัน กลางคืน การขึ้นและตก
ของดวงอาทิตย์ และการกำหนดทิศ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดลม ประโยชน์ของลมต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากวาตภัยและอุทกภัย

  • ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

             ผู้เรียนควรได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกฝนการนำความรู้มาแก้ปัญหา หรือพัฒนาชิ้นงานด้วย โดยประยุกต์ใช้ความรู้ในเรื่องแรง ผลของแรงที่มีต่อวัตถุต่าง ๆ แรงแม่เหล็ก หรือสมบัติของวัสดุ ในแก้ปัญหาหรือการสร้างชิ้นงานอย่างง่าย

  • เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน

             ผู้เรียนควรได้รับการจัดประสบการณ์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน มีความมุ่งมั่นและเห็นว่า การแก้ปัญหา เป็นเรื่องที่สนุกและท้าทาย รวมทั้งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ สื่อสารได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย สร้างชิ้นงานหรือเครื่องมืออย่างง่ายในการเล่น การทำงาน การแก้ปัญหา หรือการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม

ขอบเขตเนื้อหาและกลวิธีสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนตามช่วงวัย

            ผู้เรียนในช่วงชั้น 1 (อายุ 7 – 9 ปี) สามารถพัฒนาการคิดเชิงเหตุผลกับสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรม และ ใกล้ตัว โดยมีผู้สอนเป็นผู้แนะนำช่วยเหลือในการวางแผนและจัดระบบการสืบเสาะตามขั้นตอน หรือวิธีการ

            การฝึกให้ผู้เรียนชั้น ป.1 และ ป.2 จดจำคำศัพท์ ความหมายของคำศัพท์ สร้างคลังคำศัพท์เหมาะสมตามวัย จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ผู้สอนจึงมีบทบาทสำคัญพัฒนาคลังคำศัพท์ที่เหมาะสมตามวัย ด้วยการนำอ่านบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวิทยาการต่าง ๆ เพื่อฝึกการฟังอย่างมีความหมาย รู้จักและสะสมคำศัพท์ที่หลากหลาย ตลอดช่วงชั้น (ป.1 – 3) ควรฝึกผู้เรียนให้สื่อสารด้วยการใช้ภาษาในการพูด และเขียนคำหรือข้อความสั้น ๆ  เพื่อสร้างคำอธิบาย แสดงความเห็น ลงข้อสรุป

          โดยธรรมชาติ ผู้เรียนในช่วงชั้นนี้มีความกระตือรือร้น ช่างสังเกต ชอบตั้งคำถาม ชอบทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แต่ยังคงต้องพัฒนากล้ามเนื้อต่างๆ ต่อเนื่องจากช่วงชั้นอนุบาล ดังนั้น ผู้เรียนจึงควรเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นในการฝึกการสังเกตด้วยประสาทสัมผัสที่เหมาะสมกับกิจกรรม รวมถึงฝึกการหยิบจับ และใช้อุปกรณ์อย่างง่ายร่วมกับการสังเกตด้วยประสาทสัมผัส  ช่วง ป.2 และ ป.3 สามารถเรียนรู้ที่จะสร้างคำถาม ที่นำสู่การสืบเสาะ (Testable Question) และใช้เทคโนโลยีร่วมในการสืบค้น จัดกระทำข้อมูล หรือนำเสนอข้อมูลได้โดยอาศัย การช่วยเหลือหรือแนะนำ ดังนั้น ผู้สอนจึงควรเลือกใช้กลวิธีสอนที่เน้นการเรียนรู้แบบกระตือรือร้นและมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และเจตคติของผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวม และประเมินเพื่อพัฒนา
การเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องและให้ผลสะท้อนกลับเชิงสร้างสรรค์กับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

จากการฝึกฝนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติโดยการรวบรวมข้อมูลที่สังเกต หรือทดลองได้จะทำให้ผู้เรียนพัฒนาสมรรถนะในด้านการสืบเสาะ การตีความหมายข้อมูลเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัว ซึ่งผู้เรียนต้องใช้สมรรถนะคิดขั้นสูงในการวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติและระบบธรรมชาติ
ฝึกการทำงานและการมีส่วนร่วมในทีม การรับรู้และจัดการอารมณ์ของตนเองให้สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วง สามารถสื่อสารในการใช้ภาษาเชิงวิทยาศาสตร์ได้อย่างเหมาะสมในการแสดงความเห็น อธิบาย และลงข้อสรุป

  จากการฝึกฝนให้ผู้เรียนได้อ่านและทำความเข้าใจข้อมูลที่นำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะ เฉพาะในด้านการใช้และเข้าใจภาษาเชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถอ่านและแปลความหมายข้อมูลที่พบในชีวิตประจำวัน และได้ฝึกฝนการนำคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้

  จากการฝึกฝนให้ผู้เรียนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในการสืบเสาะ สร้างชิ้นงาน และแก้ปัญหา ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะรับฟังและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง เชื่อมั่นในความคิดเห็นที่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ สนุกกับการแก้ปัญหา ได้พัฒนาสมรรถนะการจัดการและทำงานเป็นทีม ตระหนักถึงประโยชน์ของการรวมพลัง ร่วมแรงร่วมใจในการทำงานอย่างมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ เป็นพลเมืองที่เคารพกฎ กติกา สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย

 

 การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ

ภาษาไทย/ ภาษาอังกฤษ สามารถจัดสถานการณ์ ให้นักเรียนรู้จักคำศัพท์ต่าง ๆ พัฒนาเป็นคลังคำศัพท์เฉพาะตนเพื่อช่วยให้สามารถใช้ภาษาของตนเองด้วยการพูด หรือเขียน เพื่อนำมาใช้ในการบันทึกผลการสืบเสาะ สื่อสารความคิด และนำเสนอเรื่องราว

สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม สามารถจัดสถานการณ์การเรียนรู้ ในเรื่องทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทิศกับการใช้แผนผัง หรือแผนที่ สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ทั้งด้านภูมิปัญญา และกระบวนการแก้ปัญหาของบุคคลในอดีตมาเชื่อมโยงกับองค์ความรู้และการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์

คณิตศาสตร์ นำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และจัดกระทำข้อมูลในรูป ตารางทางเดียว หรือแผนภูมิรูปภาพ

ศิลปะ นำศิลปะมาเป็นการดำเนินเรื่องราวในการสืบเสาะ หาความรู้ หรือประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในการทำความเข้าใจหรือการทำงานทางศิลปะและภูมิปัญญาในชุมชน นอกจากนี้ ยังใช้สมรรถนะทางศิลปะมาร่วมสร้างสรรค์ชิ้นงานจากการแก้ปัญหาให้มีความสวยงามและน่าสนใจมากขึ้น

บูรณาการเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันกับทุกสาระการเรียนรู้ เน้นฝึกทักษะพื้นฐานการแก้ปัญหา
ในการจัดลำดับขั้นตอนการทำงาน หรือการทำกิจกรรม โดยอภิปรายและเปรียบเทียบความแตกต่างของผลลัพธ์ในการทำงานจากขั้นตอนการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ขั้นตอนที่เหมาะสมหรือได้แนวทางที่หลากหลาย นอกจากนี้ให้นักเรียนฝึกทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างชิ้นงานหรือเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่สนใจเพื่อค้นหาความรู้ และส่งเสริมทักษะพื้นฐานในการเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมโดยการสร้างของเล่น ของใช้ตามความสนใจ
ซึ่งโรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ