จุดเน้นการพัฒนาผ่านแต่ละหัวข้อ มีดังนี้
สุขภาพและโรคภัย
ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดสำคัญทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและสารละลาย ระบบย่อยอาหาร การเกิดเสียง การเคลื่อนที่ของเสียง เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงดัง เสียงค่อย และมลพิษทางเสียง เพื่อให้เกิดความตระหนักในการการดูแลสุขภาพกายและจิตของตนเอง และการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากมลพิษทางเสียง
ทรัพยากรธรรมชาติ
ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดสำคัญทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสถานะและการเปลี่ยนสถานะของสสาร กระบวนการเกิดเมฆ หมอก น้ำค้าง น้ำค้างแข็ง ฝน หิมะ และลูกเห็บ การหมุนเวียนของน้ำในวัฏจักรน้ำ ปริมาณน้ำจืดที่มนุษย์นำมาใช้ได้เทียบกับปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ การแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำหรือแนวทางการอนุรักษ์น้ำในชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน
สิ่งแวดล้อม
ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดสำคัญทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ วัฏจักรชีวิตของพืชดอกและสัตว์์ ผลของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่มีต่อพืชและสัตว์ และการดูแลและปกป้องสภาพแวดล้อมให้ความเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์
ปรากฏการณ์ธรรมชาติและภัยอันตราย
ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดสำคัญทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแสงและการมองเห็น การเปลี่ยนแปลงรูปร่างดวงจันทร์บนท้องฟ้า เงา อุปราคา ระบบสุริยะ การเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ประโยชน์และผลกระทบของปรากฏการณ์เรือนกระจกต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม แหล่งที่มาหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจก และแนวทางในการลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดสำคัญทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนพลังงานในกิจกรรมต่าง ๆ การต่อวงจรไฟฟ้าอย่างง่าย การต่อเซลล์ไฟฟ้าแบบอนุกรม การต่อหลอดไฟฟ้าแบบอนุกรมและแบบขนาน การเขียนแผนภาพวงจรไฟฟ้า แรงเสียดทาน แรงโน้มถ่วง มวล และน้ำหนัก สมบัติการนำไฟฟ้า สมบัติการนำความร้อน และสมบัติด้านความแข็งของวัสดุ
ขอบเขตเนื้อหาและกลวิธีสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนตามช่วงวัย
ผู้เรียนในช่วงชั้น 2 (อายุ 10 – 12 ปี) สามารถพัฒนาการคิดเชิงเหตุผลกับสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรม และเริ่มคิดเชิงเหตุผลกับสถานการณ์ที่เป็นนามธรรมได้บ้าง สามารถวางแผน จดจำ และนำกลยุทธ์ต่าง ๆ มาใช้จัดระบบการสืบเสาะได้ มีความสามารถในการประยุกต์กลยุทธ์การจำที่หลากหลายและละเอียดละออ เป็นระบบมากขึ้น เข้าใจความหมายของคำศัพท์ที่เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน และความสัมพันธ์เป็นกลุ่มความหมายเดียวกันมากขึ้น มีการใช้โครงสร้างทางไวยากรณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ใช้กลยุทธ์ในการสนทนามากขึ้น
การจัดการเรียนรู้สำหรับช่วงชั้นนี้จึงควรให้ผู้เรียนเรียนรู้และฝึกใช้คำศัพท์ที่หลากหลาย แต่มีความหมายเดียวกันร่วมกับการใช้ไวยากรณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นในการอธิบายหรือสื่อสารความเห็นหรือสิ่งที่ค้นพบ รวมถึงฝึกใช้กลวิธีการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวหรือโต้แย้งแนวคิดของผู้อื่นทั้งในรูปแบบการพูดและการเขียน จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผู้สอนจึงมีบทบาทสำคัญพัฒนาคลังคำศัพท์และไวยากรณ์ที่เหมาะสม ตามวัย และฝึกความสามารถในการฟังอย่างมีความหมาย เรียนรู้คำศัพท์เชิงวิทยาศาสตร์และคำศัพท์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง รู้จักจับสาระสำคัญจากการอ่านหรือการฟัง และแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่อ่านอย่างมีจินตนาการ ตลอดช่วงชั้นผู้เรียนควรฝึกสื่อสารและให้เหตุผลอย่างมีตรรกะ
โดยธรรมชาติ ผู้เรียนในช่วงชั้นนี้ยังมีความกระตือรือร้น ช่างสังเกต ชอบตั้งคำถาม สามารถคิดอย่างมีเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และคิดเชิงวิพากษ์ได้มากขึ้น ผู้เรียนจึงควรเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นในการฝึกการ ตั้งคำถามที่นำสู่การสังเกตหรือการทดลอง ลงมือสังเกตด้วยประสาทสัมผัสร่วมกับการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ หรือเครื่องมือดิจิทัลอย่างง่าย และใช้เทคโนโลยีร่วมในการออกแบบการบันทึกข้อมูล การเก็บรวบรวมหลักฐาน การจัดการและการนำเสนอข้อมูลอย่างมีเหตุผล สามารถแสดงความเห็นหรือโต้แย้งด้วยหลักฐานหรือข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ผู้เรียนในช่วงชั้นนี้เป็นช่วงวัยที่ต้องการการยอมรับจากเพื่อน ดังนั้น ผู้สอนจึงควรฝึกฝนกระบวนการทำงานร่วมกันทำงานเป็นทีม การรู้จักรับฟัง เคารพความเห็นที่แตกต่าง และยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนในทีม
การนำไปใช้ในชีวิตจริง
ผู้สอนควรจัดให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกันในการสืบเสาะหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านการตั้งคำถาม การสังเกต การทดลอง การใช้เครื่องมือต่าง ๆ การวิเคราะห์ เปรียบเทียบ จำแนกหลักฐานและข้อมูลต่าง ๆ การใช้ภาษาเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเหมาะสมในการแสดงความเห็น อธิบาย ลงข้อสรุป การอ่าน และทำความเข้าใจข้อมูลที่นำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ การรู้จักรับฟังและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง การเชื่อมั่นในความคิดเห็นที่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ สนุกกับการแก้ปัญหา การทำงานอย่างมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ เป็นสมาชิกของทีมที่เคารพกฎ กติกา เคารพในความแตกต่างหลากหลายของสมาชิกในทีม เหล่านี้ล้วนพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะเฉพาะและสมรรถนะหลักตามเป้าหมายของหลักสูตรในช่วงชั้นที่ 2
การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ
ภาษาไทย/ ภาษาอังกฤษ สามารถจัดสถานการณ์ ให้นักเรียนได้เรียนรู้และใช้คำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับภาษาของตนเองในการสื่อสารด้วยการพูดหรือเขียน เพื่อนำมาใช้ในการบันทึกผลการสืบเสาะ สื่อสารความคิด และนำเสนอเรื่องราว และฝึกการสรุปสาระสำคัญของสารที่อ่านแล้วสื่อสารด้วยภาษาอย่างมีกลยุทธ์และเข้าใจง่าย
สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม สามารถจัดสถานการณ์การเรียนรู้ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ในการติดตาม ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในสังคม ไม่ปฏิบัติตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
คณิตศาสตร์ นำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ เช่น การวัดความยาวหรือความสูง การวัดปริมาตร นอกจากนี้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์เพื่อจัดการข้อมูล และเลือกรูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่เหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์
สุขศึกษา บูรณาการผลลัพธ์การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารร่วมกับผลลัพธ์การเรียนรู้เกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง
เทคโนโลยีดิจิทัล บูรณาการผลลัพธ์การเรียนรู้ของสาระเทคโนโลยีดิจิทัลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรวบรวมข้อมูล ออกแบบการบันทึกข้อมูลจัดเก็บ จัดเตรียม ประมวลผล วิเคราะห์ และการใช้เหตุผลเชิงตรรกะในการแก้ปัญหาร่วมกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของสาระวิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ