ความสำคัญของสาระการเรียนรู้ศิลปะ
พัฒนาการการเรียนรู้ด้านสุนทรียศาสตร์ (ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์)
เด็กประถมศึกษาในช่วงชั้นที่ 2 เป็นช่วงวัยที่สามารถคิดอย่างมีเหตุผลได้ แต่จะเป็นการคิดในเชิงรูปธรรม เด็กมีความสนใจเรียนรู้จากของจริง พัฒนาการด้านสุนทรียะอยู่ในขั้นความสนใจสื่อที่เป็นจริงการพัฒนาประสบการณ์สุนทรียะให้กับเด็กในช่วงชั้นนี้มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองทั้งสองซีก
สมองซีกซ้ายรับรู้ภาษา ตรรกะ คำนวณ คณิตศาสตร์ เป็นสมองที่ทำหน้าที่ด้านการคิดวิเคราะห์
การคิดเชิงเหตุผล สมองซีกขวารับรู้ด้านจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และการคิดแบบองค์รวม การจัด
การเรียนรู้อย่างมีดุลยภาพจากสมองทั้งสองซีก จะส่งเสริมพัฒนาการด้านสุนทรียะของเด็กและส่งเสริมความสามารถในการคิดขั้นสูงการเรียนรู้ไปพร้อมกันได้อย่างเต็มศักยภาพ
การส่งเสริมพัฒนาการด้านสุนทรียศาสตร์ ควรส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาการทำงานของสมองผ่านกระบวนการรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้งห้าและใจ เพื่อให้เกิดการซึมซับประสบการณ์สุนทรียะ โดยกระบวนการดังกล่าว ผ่านการสังเกตธรรมชาติ สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของเด็ก ด้วยการลงมือปฏิบัติการจริงด้วยตนเองผ่านกิจกรรมศิลปะ (ทัศนศิลป์, ดนตรี, นาฏศิลป์) ที่มีความท้าทาย ก่อให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบร่วมมือจะช่วยส่งเสริมสมรรถนะด้านการเข้าใจตนเอง การจัดการตนเอง มีวินัยในการทำงาน และการทำงานร่วมกับผู้อื่นและทักษะการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสุนทรียศาสตร์จะเน้นการเรียนรู้ทั้งจากประสบการณ์ตรง และประสบการณ์ทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงได้ชมงาน ได้ฟัง ได้ดู งานศิลปะชิ้นเอกของศิลปินต่าง ๆ รวมทั้งศิลปินท้องถิ่น โดยการได้สัมผัสวัตถุ หรือการชมการแสดงต่าง ๆ ทางศิลปะ (ทัศนศิลป์, ดนตรี, นาฏศิลป์) จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย หรือจัดให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมการเกิดประสบกาณ์สุนทรียะโดยการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ กระตุ้นการเรียนรู้ให้เกิดการคิดแก้ปัญหา หรือประดิษฐ์คิดค้น วัสดุ วิธีการในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เด็กกระทำด้วยตนเองได้ และมีความสามารถสื่อสารกับผู้อื่น ทำให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก จะก่อให้เกิดความซึมซับในการเรียนรู้ เกิดความซาบซึ้งในศิลปะ ตะหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าของศิลปะ จิตสำนึกสาธารณะและส่งเสริมสมรรถนะด้านการเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม การทำงานเป็นทีม ความเป็นพลเมืองและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน
การส่งเสริมพัฒนาการด้านสุนทรียะนี้เกี่ยวข้องกับทฤษฎีพหุปัญญาที่ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ อาจจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการบูรณาการระหว่างศาสตร์ทางศิลปะ (ทัศนศิลป์, ดนตรี, นาฏศิลป์) การบูรณาการข้ามศาสตร์ หรือการบูรณาการศิลปะแต่ละแขนงกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ของเด็กเป็นการส่งเสริมการพัฒนาปัญญา
ด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายตามความถนัดและความสนใจของเด็ก การส่งเสริมพัฒนาการด้านสุนทรียะควบคู่ไปกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม
ลักษณะเฉพาะ/ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้
นักเรียนในช่วงชั้นที่ 2 เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางด้านร่างการที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กให้ประสานงานกันได้อย่างมีความสมดุลและใช้ในการทำงานได้ดีเป็นช่วงวัยที่เด็กให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อน อาจมีการแยกกลุ่ม ชาย-หญิง เพราะเด็ก ชาย-หญิง มีความสนใจต่างกัน การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ทางการเรียนรู้จึงควรเน้นการทำงานร่วมกัน และให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมถึงสไตล์ของการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เด็กวัยนี้ชอบเรียนรู้ในสิ่งที่ท้าทาย แปลกใหม่และเรียนรู้ในเรื่องที่ตน และกลุ่มเพื่อนให้ความสนใจ มีความสามารถในการสังเกตรายละเอียดมากขึ้น มีความสนใจในการสร้างสรรค์ศิลปะที่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตประจำวันรอบตัว หรือประสบการณ์จริงในชีวิตผสมผสานกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
จุดเน้นการพัฒนา
ด้านที่ 1 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเจตคติ และการสร้างประสบการณ์สุนทรียะ ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจ คุณธรรม ค่านิยม การชื่นชมและความซาบซึ้งในศิลปะจากกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างประสบการณ์สุนทรียะทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการได้สัมผัสธรรมชาติ สภาพแวดล้อมและผลงานศิลปะ (ทัศนศิลป์, ดนตรี, นาฏศิลป์) พร้อมทั้งฝึกฝนกระบวนการทางศิลปะซึ่งเริ่มต้นด้วยการใช้ศิลปะเพื่อพัฒนาจิตใจเพื่อการสะท้อนย้อนมองถึงสภาวะจิต และกาย เพื่อสร้างความพร้อมและพัฒนาความสามารถในการจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ และการใช้กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ นักเรียนไม่เพียงมีความรู้ และทักษะทางด้านศิลปะเท่านั้นแต่ควรได้รับการพัฒนาถึงระดับที่เกิดความตระหนักรู้เชิงคุณค่า และมีทัศนคติเชิงบวก ร่วมกันรักษางานวัฒนธรรมทางศิลปะของไทย ของชุมชนให้คงดำรงอยู่อย่างมีบทบาทต่อไปในสังคม ควรฝึกให้นักเรียนกล้าแสดงออกทางศิลปะอย่างสร้างสรรค์ ด้วยรูปแบบและกลวิธีทางศิลปะที่หลากหลาย ฝึกการรับฟังความคิดเห็นที่มีผลต่อการพัฒนางานศิลปะของตนเอง เพื่อสื่อสารและลดช่องว่างระหว่างสิ่งที่ตนเองเห็นกับผลงานศิลปะที่สร้างขึ้น รวมถึงสิ่งที่ผู้อื่นเห็นและรับรู้
ด้านที่ 2 การบูรณาการความรู้และทักษะทางศิลปะ ทั้งการบูรณาการระหว่างศาสตร์ทางศิลปะ (ทัศนศิลป์, ดนตรี, นาฏศิลป์) การบูรณาการศิลปะกับศาสตร์อื่น ๆ การบูรณาการศิลปะแต่ละแขนงกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม ภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นและการบูรณาการระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะสากล เป็นกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดจากการผสมผสานทางความคิดใหม่ กระบวนการสร้างสรรค์ใหม่ก่อให้เกิดผลงานศิลปะรูปแบบใหม่ หรือเป็นการสร้างสรรค์ที่ตระหนักถึงความสำคัญของดุลยภาพในการอนุรักษ์และการพัฒนารูปแบบศิลปะของไทยในกระแสสากล โดยคำนึงถึงรากฐานหรือสาระสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสำคัญ รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการมีจิตสำนึกการมีส่วนร่วมและจิตสำนึกสาธารณะรับผิดชอบต่อสังคม
การจัดกิจกรรมเน้นการรับรู้จากสิ่งที่เป็นจริง หรือประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่มีความท้าทายการคิดแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ด้วยวัสดุ วิธีการที่หลากหลายด้วยการลงมือทำจริงของนักเรียนเอง หรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น สอดคล้องกับการพัฒนาการของเด็กวัยนี้ที่ชอบความท้าทาย เป็นวัยที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับกลุ่มที่มีความสนใจคล้าย ๆ กัน การจัดกิจกรรมบูรณาการจึงส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียนทั้งในด้านการคิดขั้นสูงและการเรียนรู้ การสื่อสารด้วยภาษา การจัดการและการทำงานเป็นทีมการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน
การนำไปใช้ในชีวิตจริง
ระดับตนเอง การนำสุนทรียภาพไปใช้ในชีวิต คือ เป็นผู้มีสายตามองเห็นคุณค่า ความงามของสรรพสิ่งรอบตัว เกิดความคิดเชิงบวกและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะและสุนทรียภาพในชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตและทำงานอย่างมีศิลปะ สามารถแสดงความคิดเห็นในการวิเคราะห์ผลงานที่ตนฝึกฝน ผลงานของเพื่อน สร้างสัมพันธ์กับศิลปิน เปิดกว้างสู่งานของผู้อื่น
ระดับชุมชนและสังคม รู้จักการใช้งานศิลปะเป็นส่วนประกอบสร้าง แรงบันดาลใจ แรงศรัทธาเสริมเอกภาพของกลุ่มคน ชุมชน สังคม โดยมีศิลปะเป็นเครื่องจรรโลงจิตใจ และน้อมนำไปสู่การสร้างงานศิลปะสาธารณะกุศล ศิลปะเพื่อชุมชน ศิลปะในวัฒนธรรมประเพณี ในวาระหรือเทศกาลที่สำคัญต่าง ๆ และใช้เป็นสื่อนำเสนอการแก้ไขปัญหาของสังคม
การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ
บูรณาการระหว่างทัศนศิลป์ ดนตรี และนาฏศิลป์ อย่างสอดคล้องและกลมกลืน และบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนี้
ภาษาไทย/ ภาษาอังกฤษ ภาษาและดนตรี นาฏศิลป์ เป็นสื่อประกอบที่เกื้อกูลกัน การฝึกทักษะทางภาษาของเด็กในวัยช่วงชั้นที่ 2 ผ่านการแสดงออกด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร อาจเป็นส่วนหนึ่งของงานแห่งจินตนาการ จากการกระทำที่แสดงโดยภาพวาด บทละคร ลำดับเรื่องในภาพยนตร์ บทเพลงบรรเลงที่คัดย่อมา ท่าเต้น-การฝึกให้เล่าเรื่อง (เป็นกลุ่มหรือใช้บันทึกดิจิทัล) สร้างการกระทำหรือสถานการณ์ใหม่ในรูปแบบที่ออกแบบท่าเต้นการพูด การอภิปราย การแสดงบทบาทสมมติ ฝึกฝนการออกเสียงที่ชัดเจนมีจังหวะ มีลีลา มีท่วงทำนอง เป็นการเรียนที่มีความรื่นรมย์ ลื่นไหล มีความสุข และสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ได้ตรงกับความหมายและความเป็นจริงมากขึ้น
สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม เป็นสื่อในการถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ ความผูกพันของคนในสังคม มรดกภูมิปัญญาของชาติในระดับพื้นถิ่น ระดับชาติ และระดับ นานาชาติ ประวัติศาสตร์ศิลปะผสมผสานการแสดงออกทางศิลปะทั้งหมด ในอดีตและปัจจุบัน ทั้งระดับปัญญาชนผู้รู้้และประชาชนระดับกว้างและชุมชน เป็นเส้นทางบ่มเพาะวัฒนธรรมทางศิลปะให้แก่นักเรียนโดยเป็นการผสมผสานระหว่างได้สัมผัสผลงานศิลปะ และการได้รับองค์ความรู้โดยไม่หยุดอยู่ที่ขอบเขตตามจารีตของวิจิตรศิลป์ ดนตรี ขับร้อง การละคร การเต้นรำ วรรณกรรมและภาพยนตร์ เพื่อการสืบสานมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่เรียนรู้ตามความนิยมหรือแบบประเพณีดั้งเดิม ให้อุดมด้วยการฝึกฝนทางศิลปะทุกแขนง ถ่ายทอดเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และถ่ายทอดจินตนาการออกมาด้วยงานศิลปะ เพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม โลกและระบบธรรมชาติ
คณิตศาสตร์ จากพื้นฐานที่ได้จากช่วงชั้นที่ 1 ในเรื่อง เส้น รูปร่าง รูปทรง ปริมาณหรือขนาดความหนาบาง พื้นที่ พื้นผิว แผนภูมิ และสีอ่อนแก่ การจำแนก แยกแยะ จัดกลุ่ม จัดองค์ประกอบศิลปะด้วยเส้นและรูปร่างรูปทรงเรขาคณิต และการประกอบลายศิลปะไทย อย่างสมมาตร สมดุลในลายแม่บท ทั้งแบบสมบูรณ์และแบบแตกลายหรือขยายอย่างมี Pattern การจัดองค์ประกอบศิลป์ ด้วยจังหวะของรูปและที่ว่าง (Solid and Void) ทั้งบนหน้ากระดาษ หรือการแสดงบนเวที ช่วงชั้นที่ 2 ขยายทักษะและแนวคิด (พื้นที่ มุมมอง สัดส่วน การวัด ฯลฯ) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่พัฒนาขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ การสำรวจและสังเกตธรรมชาติเป็นกระบวนการร่วมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ ที่ช่วยให้เด็กรู้จักและเข้าใจสรรพสิ่งในธรรมชาติด้วยการสัมผัสและมีประสบการณ์ตรง สามารถเห็นรายละเอียดและระบุ ตั้งคำถามเพื่อการสืบค้นที่มาของปรากฏการณ์ต่าง ๆ
รู้ถึงที่มาของวัสดุสำคัญที่ใช้สร้างชิ้นงานศิลปะ การสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์และผลการทดลอง กระบวนการแปรรูปวัสดุธรรมชาติที่นำมาสร้างสรรค์งานศิลปะ การค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกเกี่ยวกับสีและคุณภาพทางกายภาพของวัสดุของสี (เม็ดสี สาร สารยึดเกาะ สารที่ทำให้แห้งเร็ว (siccative) ฯลฯ) ผลกระทบที่เกิดจากการใช้ (การทำแบบใสๆ การเคลือบ ฝี แปรงแบบหนา การเคลือบ ทำให้แข็ง ระยะใช้วิธีฉีดพ่น…) รองรับ ผสมกับสื่ออื่น ๆ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประสาทสัมผัสมิติของสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ (รูปแบบ พื้นผิว ขอบเขตสภาพแวดล้อม) และคุณภาพ (เฉดสีความเข้มข้น เฉดสี แสง ฯลฯ) สีและเสียงเป็นวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการคำนวณมาตั้งแต่อดีต จนกลายเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เป็นหลักการให้ยึดถือ ซึ่งวิทยาศาสตร์และศิลปะได้ผสมกันอย่างกลมกลืน งานด้านดนตรีและนาฏศิลป์ถูกนำไปใช้ในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ จิตวิทยา ก่อให้เกิดสรรพวิชาใหม่ในปัจจุบัน