Competency - based Education
โครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

                สังคมศึกษาเป็นศาสตร์บูรณาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ประกอบด้วยวิชาสำคัญคือประวัติศาสตร์ ศีลธรรม หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์ สังคมศึกษามีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ พลเมืองที่มีลักษณะหลายระดับ ประกอบด้วยการเป็นพลเมืองของท้องถิ่น พลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน พลเมืองโลก และพลเมืองดิจิทัล มุ่งพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้มีมุมมองหลากหลาย และมีมโนทัศน์สำคัญสำหรับใช้ทำความเข้าใจโลกและชีวิตที่กว้างขวาง เป็นผู้มีความสามารถที่จะเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ พัฒนาตนเอง และ
ใช้ศักยภาพของตนอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนร่วมมือกันเพื่อสร้าง
การเปลี่ยนแปลงให้แก่ชุมชนและสังคม  

        สาระการเรียนรู้นี้ มีสมรรถนะเฉพาะ 7 สมรรถนะ ได้แก่

  1. ประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นที่ตนนับถือในชีวิตประจำวันอย่างมีสติปัญญา สามารถช่วยเหลือผู้อื่นและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
  2. กำกับตนเองและตัดสินใจใช้จ่ายและใช้ทรัพยากรในฐานะผู้บริโภคอย่างมีเป้าหมาย รับผิดชอบ และรู้เท่าทัน
    เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและพอเพียงระดับโรงเรียนและชุมชน
  3. ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ด้วยการตรวจสอบและตัดสินข้อมูลหลักฐานโดยไม่ใช้อคติ เลือกใช้และแปลความหมายข้อมูลหลักฐาน ลำดับเหตุการณ์ ความต่อเนื่อง และความเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อนำเสนอเรื่องราว ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นไทยและสถาบันหลักของชาติ และสร้างสรรค์ต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาท้องถิ่นและสังคมไทยอย่างภาคภูมิใจและเคารพในความแตกต่างหลากหลาย
  4. ติดตาม คาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ดำเนินชีวิตตามแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในจังหวัด และภูมิภาคที่ตนอาศัยอยู่ ด้วยความเข้าใจในปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
  5. ปฏิบัติตนตามบทบาทหน้าที่ วิถีวัฒนธรรมของชุมชน กติกาทางสังคมอย่างรับผิดชอบ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น หาทางออกร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้อง โดยใช้กระบวนการตามวิถีประชาธิปไตย เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของโรงเรียนและชุมชนด้วยความสมัครใจ
  6. รู้เท่าทันและจัดการอารมณ์ เวลา ความต้องการในการใช้สื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลอย่างเหมาะสม ประเมินความน่าเชื่อถือและผลกระทบจากการใช้สื่อสารสนเทศ สร้างและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศอย่างมีมารยาทเห็นอกเห็นใจ ให้เกียรติผู้อื่นและรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน
  7. ติดตามและตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ระบุปัญหาและการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนและชุมชน กำหนดเป้าหมาย จัดลำดับสาเหตุ รวบรวมข้อมูล วางแผนวิธีการทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ตัดสินใจลงข้อสรุป และสะท้อนการแก้ปัญหา

        สมรรถนะเฉพาะทั้ง 7 สมรรถนะดังกล่าว มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสมรรถนะหลักทั้ง 6 สมรรถนะ และบูรณาการกันเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้น 10 ข้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายของช่วงชั้นนี้ 

        ผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 2 ทั้ง 10  ข้อ ดังกล่าว นำไปกำหนดเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 โดยต้องคำนึงถึงการบูรณาการสมรรถนะหลักและสมรรถนะเฉพาะด้วย เพื่อให้เมื่อผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นปีแล้ว        จะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นตามที่หลักสูตรกำหนดไว้

        ลักษณะเฉพาะ/ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้

        สาระการเรียนรู้นี้ ว่าด้วยการศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อทำความเข้าใจตนเองและสังคม โดยการปฏิบัติตนตามหลักของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นที่ตนนับถือด้วยสำนึกที่ดี ที่ได้รับการปลูกฝัง การพัฒนาระบบความคิด พิจารณา ไตร่ตรองก่อนตัดสินใจทำสิ่งใด ๆ ทำให้เป็นผู้มีจิตใจดีที่ส่งผลต่อการคิดดี พูดดี และทำแต่สิ่งที่ดี อันเป็นประโยชน์และสร้างสันติสุขทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และส่วนรวม หาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้เข้าใจสังคมในอดีตได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อนำมาเสริมสร้างความเข้าใจในสังคมปัจจุบันที่มีรากประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถาบันหลัก อันได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  โดยเฉพาะความภาคภูมิใจในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ อันส่งผลต่อพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม การปฏิบัติตนตามบทบาทหน้าที่ และสิทธิเสรีภาพในการอยู่ร่วมกัน รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อตนเองในการใช้จ่าย และการใช้ทรัพยากรโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การเป็นสมาชิกที่ดีของประเทศชาติ

         การออกแบบกรอบคิดหลักของสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา สอดรับกับกรอบคิดของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 การดำเนินการเรียนรู้ให้ไปถึงสมรรถนะทั้ง 6 ประการ ได้นั้นต้องอาศัยการปฏิบัติทั้งกายภาวนา ศีลภาวนา   จิตภาวนา ปัญญาภาวนา ซึ่งสามารถที่จะถ่ายทอดศีลธรรมไปสู่ชีวิตตามทฤษฎีและหลักการในการเรียนรู้ต่างๆ

        การปฏิรูปการเรียนรู้สังคมศึกษา เป็นการศึกษาถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์และการอยู่ร่วมกันในสังคมในฐานะเป็นพลเมืองของชาติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และของโลกซึ่งร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ให้เกิดความมั่นคงทางสังคมโดยมีศีลธรรมตามที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นเป็นฐาน (ตามมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560) สาระการเรียนรู้นี้ช่วยให้ผู้เรียนใช้ชีวิตทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นพลเมืองดี

        สำหรับช่วงชั้นที่ 2 ได้จัดผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้น เป็น 4 หัวข้อ ดังนี้

        ศาสนธรรมนำทางชีวิต เป็นการบูรณาการให้นักเรียนได้ประยุกต์ใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นที่ตนนับถือ มีสติ สมาธิในการศึกษาและทำกิจวัตรประจำวัน ใช้สติปัญญาในการช่วยเหลือเกื้อกูลและแก้ปัญหาในชีวิตของตนเอง

        การวางแผนเงินและการใช้ทรัพยากร เป็นการบูรณาการให้นักเรียนได้วางแผนการใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว ลดค่าใช้จ่าย รู้เท่าทันโฆษณา ตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวัน วางแผนและกำหนดการใช้ทรัพยากรของครอบครัวและโรงเรียนอย่างคำนึงถึงหลักพอเพียง และความยั่งยืน

        ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน เป็นการบูรณาการให้นักเรียนใช้ค้นหา เชื่อมโยงหลักฐาน ตีความและนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของครอบครัว ชุมชนของตนเองและชุมชนอื่นที่มีบริบทแตกต่างกันไป ศึกษาการเกิดขึ้นของรัฐโบราณ ศึกษาประวัติศาสตร์สังคม ผู้คน และดินแดนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน นำไปสู่การปฏิบัติตนที่แสดงถึงความภาคภูมิใจในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และประเทศชาติ

        รู้เท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง เท่าทันสังคม เป็นการบูรณาการให้ผู้เรียนตระหนักและเท่าทันความคิดของตนเองที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อและค่านิยมของสังคม เท่าทันสื่อโฆษณา มีวิจารณญาณในการเลือก สร้างและส่งต่อสื่อสารสนเทศ ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อนำเสนอความคิดหรือผลปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างได้   

        การนำไปใช้ในชีวิตจริง

        จากการฝึกฝนให้ผู้เรียนได้ใช้ศาสนธรรมเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้สามารถดูแลตนเองในชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติสุข

        จากการพัฒนาคุณสมบัติการเป็น  “นักประวัติศาสตร์ที่ดี กล่าวคือ รู้จักสังเกต ไต่ถาม จดจำและนำิสิ่งที่ศึกษาจดจำมาได้ มาวิเคราะห์หาเหตุผลที่ถูกต้องต่อไป” (หนังสือสายธารประวัติวิทยา, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)  ฝึกฝนใช้กระบวนการสืบค้นเรื่องราวในอดีตของครอบครัว  โรงเรียน ชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ท้องถิ่นและสถาบันหลักของชาติ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  ทำให้ผู้เรียนมีสมรรถนะในการสื่อสารด้วยภาษา เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อาศัยการคิดขั้นสูงเพื่อวิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในการทำความเข้าใจและค้นหาข้อมูลเรื่องราวต่าง ๆ ที่ตนเองอยากหาคำตอบ

        จากการฝึกฝนให้ผู้เรียนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติสุข ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด
ความเชื่อและการปฏิบัติของบุคคล เข้าใจการอยู่ร่วมกันตามกฎ กติกา และข้อตกลง ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมที่ต้องร่วมกันดูแลรักษา นำไปสู่การทำตนให้เป็นประโยชน์ ร่วมรับรู้และแก้ปัญหาโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น และไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

        จากการฝึกฝนเรื่องการออม การวางแผนและใช้เงิน รวมทั้งทรัพยากรอย่างมีสติ ตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้นจากการใช้เงินและทรัพยากรของตนเอง ช่วยลดปัญหาทางการเงินและการใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งในระดับตนเอง และครอบครัว

        การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ 

        ภาษาไทย/ ภาษาต่างประเทศ สามารถจัดสถานการณ์จากการฟัง การอ่านวรรณกรรมสำหรับเด็ก นิทาน ตำนาน เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในอดีตที่หลากหลาย ซึ่งมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ รวมถึงประเพณีที่ดีงาม โดยใช้คำศัพท์และเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติ  ความเป็นมาและวิถีชีวิตในครอบครัว  โรงเรียนและชุมชน พัฒนาความสามารถในการอ่าน การตั้งคำถามเพื่อสืบค้นข้อมูล การบันทึกและสรุปข้อมูล ตลอดจนการใช้ภาษาเพื่อการนำเสนอเรื่องราวที่ตนสนใจได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

        คณิตศาสตร์ สามารถใช้ทักษะการอ่านและแปลข้อมูลจากสถิติอย่างง่ายเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวรอบตัว สามารถบูรณาการร่วมกันในเรื่องการคำนวณเงินเพื่อวางแผนการใช้จ่ายและทรัพยากรให้คุ้มค่า และบูรณาการในเรื่องการอ่านปฏิทินและการคำนวณเวลาเพื่อเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีในรอบปีและการทำความเข้าใจประวัติความเป็นมาของครอบครัว โรงเรียนและชุมชน

        ศิลปะ สามารถใช้จินตนาการในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่สื่อเรื่องราวที่มีความหมายและมีคุณค่า ต่อความคิด ความสนใจ และความรู้สึกจากสถานการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว เพื่อให้การสื่อสารมีความชัดเจน และน่าสนใจมากขึ้น

        สุขศึกษาและพลศึกษา สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมศีลธรรมเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพจิตในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น สามารถจัดการอารมณ์และความรู้สึกอย่างรู้เท่าทัน มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความรักความสามัคคีรู้จักให้อภัย ร่วมสร้างบรรยากาศแห่งความเข้าใจและการพึ่งพาซึ่งกันและกันในการร่วมการแก้ปัญหาความขัดแย้งในฐานะที่เป็นสมาชิกของครอบครัว โรงเรียนและชุมชน

          วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ สามารถจัดกิจกรรมบูรณาการในประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากร
และสิ่งแวดล้อม รับรู้และเข้าใจระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติในห่วงโซ่ที่เกื้อกูลกัน เพื่อการปฏิบัติตนให้เหมาะสม อนุรักษ์ธรรมชาติ และพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ