ธรรมชาติของการทำงานในศตวรรษที่ 21 มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ต้องมุ่งเน้นในคุณภาพเนื้องาน นำทรัพยากรทางเทคโนโลยีมาใช้ และต้องการความพยายามทุ่มเทในระดับรายบุคคลมากขึ้น ความสำเร็จของงานเกิดจากความร่วมมืออย่างทุ่มเทในระดับบุคคลและด้วยรูปแบบการทำงานเป็นทีมจะเป็นการรวมพลังให้เกิดความสำเร็จอย่างสูงสุด ดังนั้น การทำงานเป็นทีมแบบร่วมมือรวมพลังจึงกลายเป็นจุดสำคัญของการพัฒนาบุคลากรขององค์กรในศตวรรษที่ 21 ภาพรวมขององค์กรทั้งหน่วยงานจะเป็นหนึ่งทีมใหญ่และประกอบด้วยทีมย่อยในแต่ละกลุ่มงาน และทีมงานในทุกระดับมีความร่วมมือและประสานพลังกันอย่างประสิทธิภาพ ดังนั้นการคัดเลือกคนเข้าสู่องค์กรจึงไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะความสามารถส่วนบุคคลแต่ครอบคลุมไปถึงการที่บุคคลนั้นสามารถทำงานเป็นทีมและสามารถเกื้อหนุนความสำเร็จของทีมได้ การทำงานเป็นทีมมีผลต่อคุณภาพของงาน ผลผลิต การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ขวัญและกำลังใจการทำงาน ยิ่งมีการร่วมแรงร่วมพลังมากเท่าไหร่ความความสำเร็จยิ่งมากขึ้น
ในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมทางการจัดการศึกษา ทำให้เด็กต่างคนต่างเรียน ไม่มีกิจกรรมฝึกให้เด็กทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้เด็กส่วนใหญ่มีปัญหาทำงานเป็นทีม คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง ปฏิเสธการถามความเห็นและ ทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีค่านิยมการแข่งขัน นอกจากนี้ นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความเห็นว่า การเรียนการสอนในปัจจุบัน ส่งผลให้เด็กขาดภาวะผู้นำ เนื่องจากการสอนของครูส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดความรู้แบบสอนวิชา เด็กจะมีทักษะความเป็นผู้นำได้เมื่อมีความมั่นใจและมีความคิดเป็นของตัวเอง วิธีการเรียนรู้ยุคใหม่เป็นการเรียนรู้โดยลงมือทำ ฝึกปฏิบัติจริง และมีการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น แต่ไม่ปล่อยให้เรียนรู้ตามลำพัง ครูต้องออกแบบ การเรียนรู้ให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็ก สามารถประเมินลูกศิษย์แต่ละคนได้ว่ามีพื้นความรู้เพียงใด เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และประเมินความก้าวหน้าของเด็ก (สำนักงานส่งเสริมสังคม แห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน, 2556)
หลักสูตรการศึกษาชาติของประเทศสิงคโปร์ กำหนดให้เด็กทำกิจกรรม Project work เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสในการสังเคราะห์ความรู้จากด้านต่าง ๆ ของการเรียนรู้และนำไปใช้ในเชิงวิเคราะห์และสร้างสรรค์กับสถานการณ์ในชีวิตจริง กระบวนการนี้ช่วยเพิ่มพูนความรู้และได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้แก่ การทำงานร่วมกัน (Collaborative) การสื่อสาร และการเรียนรู้อิสระ (Independent Learning) และการประยุกต์ใช้ความรู้ข้ามศาสตร์วิชา ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความท้าทายในอนาคต (Ministry of Education Singapore, 2020)
ดังนั้น สมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม จึงเป็นการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมผู้เรียน ในการดำรงชีวิตและการทำงานในอนาคต และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ เนื่องจากการทำงานที่เป็นความร่วมมือจากหลายคนที่มีความรู้และชุดของทักษะที่ต่างกัน การทำงานเป็นทีมจึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งเกิดการได้ผลลัพธ์ของการทำงานที่พึงพอใจด้วย
จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่ามีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ได้กำหนดให้สมรรถนะการทำงานเป็นทีม (Teamwork) หรือการทำงานแบบร่วมมือ (Collaboration) เป็นทักษะ/สมรรถนะสำคัญในการทำงานและใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 (National Research Council, 2012, Partnership for 21st Century Skills, 2012, Assessment and Teaching of 21st Century Skills, 2014, OECD, 2018, วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป จิตตฤกษ์, 2554)
การรวมพลังทำงานเป็นทีม (Teamwork and Collaboration: TC) มีคำสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ การทำงานเป็นทีม (Teamwork) และการร่วมมือกัน (Collaboration) การทำงานเป็นทีม (Teamwork) เป็นการกระทำร่วมกันของผู้คนให้งานบรรลุเป้าหมายเดียวกัน และเป็นงานที่มาจากคนที่ทำร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพ จุดแข็งของทีม คือ การสนับสนุนซึ่งกันและกัน การสื่อสารที่ดี และการแบ่งปัน โดยมี การกำหนดบทบาท มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขความแตกต่างและตัดสินใจ มีความเป็นผู้นำ ใช้ทรัพยากร เพื่อให้งานประสบความสำเร็จ กล่าวได้ว่า การทำงานเป็นทีม หัวหน้าทีมและคนในทีมจะได้รับมอบหมายงานแต่ละอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ส่วนการร่วมมือกัน (Collaboration) เป็นการทำงานที่สมาชิกมีทักษะความสามารถที่หลากหลายต่างกัน แม้ว่าจะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกันแต่ก็มีเป้าหมายและความเป็นผู้นำร่วมกัน มีการแบ่งปันทรัพยากรที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ท้าทายได้สำเร็จ มีการประสานข้อคิดเห็นสู่ การตัดสินใจที่เห็นพ้องต้องกัน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียมกันมักจะไม่มีผู้นำ แต่คิดหรือตัดสินใจร่วมกัน เพื่อทำให้เป้าหมายสำเร็จ (Civil Service College, 2018, Smartsheet, 2020)
จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นว่า การทำงานเป็นทีม (Teamwork) บุคคลจะมีบทบาทที่เป็นผู้นำและสมาชิกทีม ส่วนการร่วมมือ (Collaboration) บทบาทของบุคคลมีฐานะที่เท่าเทียมกัน โดยมีเป้าหมาย ที่จะบรรลุผลสำเร็จร่วมกัน มีกระบวนการทำงาน สนับสนุน สื่อสาร และแบ่งปันข้อมูล มีการประสานความคิด ที่แตกต่างสู่การตัดสินใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความสำเร็จของงาน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กไทย ต้องมีสมรรถนะดังกล่าวข้างต้น ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีคุณภาพ
นอกจากนี้ Belgard, Fisher and Rayner, 1995 (อ้างถึงใน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2562: 99) ได้กล่าวถึงการทำงานเป็นทีมว่า เป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสารเพื่อการทำงานอันจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน การสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกัน โดยมี 5 องค์ประกอบ คือ 1) การไว้วางใจ และซื่อสัตย์ 2) กำหนดบทบาทให้ชัดเจน 3) สื่อสารอย่างเปิดใจ 4) ชื่นชมในความแตกต่าง หลากหลายของความคิด 5) สร้างความสมดุลในสิ่งที่เป็นจุดเน้น หรือเป้าหมายของทีม
Chicago State University (2563) ได้กำหนดพฤติกรรมบ่งชี้ของการรวมพลังทำงานเป็นทีม ได้แก่ 1) ร่วมมือกับสมาชิกในการแก้ปัญหาและบรรลุเป้าหมาย 2) มีส่วนร่วมในการพัฒนาเป้าหมายและการวางแผน การทำงานให้บรรลุผล 3) สนับสนุนสมาชิก โดยให้เข้ามามีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น 4) รับรู้ถึงความสามารถ ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการเกื้อหนุนงานของกลุ่ม 5) ช่วยสมาชิกทีมในการเติบโตไปด้วยกัน 6) แบ่งปันข้อมูล 7) ตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งในกลุ่ม 8) สร้างคุณค่าของ การร่วมแรงร่วมใจร่วมกันกับสมาชิกทุกคน
สำนักงาน ก.พ. (2559) ได้ให้ความหมาย การทำงานเป็นทีมว่า เป็นการทำงานร่วมกันและส่งเสริมกันไปในทางบวก ผลงานรวมของทีมที่ได้ออกมาแล้วจะมากกว่าผลงานของแต่ละคนรวมกัน ทีมประกอบด้วยคนตั้งแต่ 2 คนรวมตัวกัน ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน และมุ่งการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
- ผู้นำทีม มีบทบาทหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม มีคุณสมบัติ คือ เป็นผู้ริเริ่มที่ดี มีเป้าหมายชัดเจน สร้างแรงจูงใจให้สมาชิก ให้คำแนะนำปรึกษาที่ดี มีทักษะในการชี้แนะให้สมาชิกทีมรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง มีทักษะในการจัดระบบและโครงสร้างภายในทีม เป็นผู้ฟังที่ดี เป็นนักสื่อสารที่ดี และเป็นนักคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจที่ดี
- สมาชิกทีม ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเพื่อให้ทีมประสบความสำเร็จ มีคุณสมบัติ คือ ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ยอมรับกฎกติกาของทีม ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ปฏิบัติตน ให้เป็นที่ไว้วางใจ ยอมรับความแตกต่าง สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมทีม และคิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
- ระบบการทำงาน หรือกระบวนการทำงาน ได้แก่ การวางแผน การประชุมตัดสินใจ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) การรับรู้งาน เป้าหมาย หรือปัญหา
2) การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล
3) การวางแผนปฏิบัติการ
4) การดำเนินงาน
5) การประเมินผลลัพธ์จากการดำเนินงาน - บรรยากาศในการทำงานที่ดี ประกอบด้วย แนวคิดของการเป็นคนดีคนเก่ง ยอมรับความแตกต่างอย่างเข้าใจ เอาใจใส่กันและกัน แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ให้อภัย จริงใจ และให้โอกาสกันและกัน สนับสนุน ประสาน ส่งเสริม และเกื้อกูลการทำงานร่วมกัน ผูกรัก ผูกใจให้เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกทีม โดยเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ มุ่งเน้นให้สมาชิกฉลาดใช้ปัญญา อย่าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจทำงาน
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2562: 41-42) ร่วมกับคณะทำงานวางแผนจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และคณะวิจัย ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น ได้มีคำอธิบาย การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีม และมีภาวะผู้นำ (Collaboration Teamwork and Leadership) ดังนี้