ความสำคัญของสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
ด้วยภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดภาษาหนึ่งและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นทักษะสำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน การแสดงออก การจัดการตนเอง การแสวงหาความรู้ เชื่อมโยงกับวิชาอื่น ๆ การศึกษาต่อ และการประกอบอาชีพ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ลักษณะเฉพาะ/ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้
เป็นสาระการเรียนรู้ที่เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ในด้านต่าง ๆ และเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารสร้างความเข้าใจในความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม นอกจากนี้ ภาษาอังกฤษยังสามารถช่วยกระตุ้นจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน รวมทั้งเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจอันดีกับผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกัน อันนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ผู้เรียนภาษาอังกฤษจะได้รับการพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียนคำศัพท์ ประโยคง่าย ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องราว พร้อม ๆ กับแลกเปลี่ยนความรู้ แสดงความคิดเห็น และความรู้สึกได้อย่างเหมาะสม โดยผู้เรียนควรได้รับแรงเสริมและกำลังใจจากครูให้มีความกล้า รู้สึกสนุก มีความเพลิดเพลินในการเรียนรู้ภาษา เกิดความคุ้นเคย และความมั่นใจในการฝึกสนทนา โต้ตอบ และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษทั้งในและนอกชั้นเรียน
จุดเน้นการพัฒนา (ช่วงชั้นที่ 1)
ในช่วงชั้นที่ 1 ภาษาอังกฤษมุ่งเน้นการติดต่อสื่อสารในแง่มุม/ มิติต่าง ๆ ได้แก่
1) รู้คำศัพท์ที่พบบ่อยๆ และสำนวนพื้นฐานเกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
2) เข้าใจและสามารถโต้ตอบกับผู้พูด/คู่สนทนาได้ ในการแสดงความคิด อารมณ์ ความรู้สึก โดยใช้ประโยคง่าย ๆ
3) ให้ข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้นเกี่ยวกับตนเอง โดยใช้คำและวลี ที่สั้นและง่าย หรือใช้ประโยคพื้นฐานได้
4) เข้าใจคำศัพท์ วลี ประโยคสั้นๆรวมไปถึงคำสั่งที่ใช้บ่อย ๆ ในสถานการณ์ที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในการพูดและการเขียน
5) สามารถใช้คำศัพท์ วลีสั้นๆ และสำนวนที่ใช้ในการสื่อสารเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เพื่อสื่อสารและบรรยายข้อมูลส่วนบุคคล สี ตัวเลขพื้นฐาน สิ่งของพื้นฐาน กิจวัตรประจำวัน ฯลฯ
6) สามารถจดจำและใช้คำศัพท์ได้ถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำโดด ๆ ระดับพื้นฐาน และใช้วลีสั้น ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันที่พบได้ทั่วไป
* หมายเหตุ ได้ใช้สมรรถนะตามกรอบอ้างอิง FRELE-TH เป็นพื้นฐาน เพื่อความชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียน การสอน ช่วยให้ครูวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษตามกรอบ CEFR และ FRELE-TH