Competency - based Education
โครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

         ความสำคัญของสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารที่สำคัญของคนไทย  ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันทั้งระดับบุคคลและระดับสังคม เป็นเครื่องมือสำหรับการคิด การรู้คิดด้วยภาษาไทยจะช่วยให้การเรียนรู้และการแสวงหาความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภาษาไทยเป็นสำนึกร่วม เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างสรรค์และการเข้าถึงสุนทรียภาพ ดังนั้น การใช้ภาษาไทยจึงเป็นสมรรถนะที่ต้องศึกษาและฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ

 สาระการเรียนรู้นี้มีสมรรถนะเฉพาะ 4 สมรรถนะ ได้แก่
1) การฟัง การดู และการพูดเพื่อพัฒนาการคิด
2) การอ่านเพื่อพัฒนาการคิด
3) การเขียนเพื่อพัฒนาการคิด
4) การเข้าใจธรรมชาติของภาษาและการใช้ภาษาไทย    

          สมรรถนะเฉพาะทั้ง 4 สมรรถนะดังกล่าว มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสมรรถนะหลักทั้ง 6 สมรรถนะ และบูรณาการกันเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้น 9 ข้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายของช่วงชั้นนี้

          ผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 1 ทั้ง 9 ข้อ นำไปกำหนดเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 โดยต้องคำนึงถึงการบูรณาการสมรรถนะหลักและสมรรถนะเฉพาะด้วย เพื่อให้เมื่อผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์
การเรียนรู้ชั้นปีแล้ว จะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นตามที่หลักสูตรกำหนดไว้

         ลักษณะเฉพาะ/ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้

การเรียนรู้ภาษาไทยในช่วงชั้นที่ 1 เป็นการเรียนรู้การใช้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับบริบทใกล้ตัว เริ่มต้นจากเรื่องของตัวเอง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง สถานการณ์ หรือบริบทใกล้ตัวของนักเรียนทั้งในและนอกโรงเรียน

นักเรียนจะได้รับการพัฒนาสมรรถนะการฟังจากการฟังและ/หรือดูสิ่งต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้คำศัพท์ และสร้าง  ความเข้าใจเรื่องราวไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสมรรถนะการพูดจากการพูดสนทนาและการเล่าเรื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ แสดงความคิดเห็น และความรู้สึก รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกกาลเทศะ บุคคล รวมทั้งมีมารยาทในการฟัง การดู และการพูด

ในขณะเดียวกัน นักเรียนก็ต้องได้รับการพัฒนาสมรรถนะการอ่านจากการอ่านบทอ่านประเภทต่าง ๆ เพื่อให้สามารถอ่านออกและเข้าใจเนื้อหาสาระของบทอ่านไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสมรรถนะการเขียน เพื่อให้สามารถเขียนสะกดคำได้ถูกต้องตามโครงสร้างภาษา และเขียนข้อความแสดงความรู้ความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก โดยใช้คำและประโยคง่าย ๆ ตรงตามวัตถุประสงค์ได้อย่างถูกหลักการใช้ภาษาในการสื่อความหมาย เพื่อสื่อสารและเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมารยาทในการอ่านและการเขียน ทั้งนี้ วิธีการสอนอ่านเขียนแบบแจกลูกสะกดคำ และอ่านตามครู ยังคงเป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ สำหรับจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนสามารถอ่านออกและเขียนได้

จุดเน้นการพัฒนา

การสอนภาษาไทยในช่วงชั้นที่ 1 เป็นการพัฒนาสมรรถนะการใช้ภาษาของนักเรียน ผ่านการเรียนรู้หลักภาษาไทยและโครงสร้างภาษาไทยพื้นฐานจากสื่อต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะการใช้ภาษา
เพื่อสื่อสารในบริบทต่าง ๆ และเกิดสมรรถนะการใช้ภาษาในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้      ในช่วงชั้นที่ 1 เป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยคำนึงพัฒนาการการเรียนรู้ภาษาของนักเรียนเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นวัยที่เพิ่งก้าวออกมาจากระดับปฐมวัย หรือครอบครัว นักเรียนจึงมีความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งด้านการใช้ภาษา การเรียนรู้ร่วมกับเพื่อน และการใช้ชีวิตกับผู้อื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ในเบื้องต้นครูควรจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการรับรู้และการเรียนรู้ของนักเรียน ปรับพื้นฐานของนักเรียน    แต่ละคน โดยออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนบนฐานของสถานการณ์ หรือบริบทใกล้ตัวของนักเรียนทั้งในและนอกโรงเรียน เช่น การใช้ภาษาพูดเพื่อสื่อสารในห้องเรียน ห้องสมุด โรงอาหาร เป็นต้น รวมทั้งออกแบบกิจกรรมการอ่านและการเขียนโดยใช้วิธีการสอนหลากหลาย เพื่อให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน โดยใช้บทอ่านในหนังสือหรือสื่อประเภทต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น บทอ่านสำหรับเด็ก วรรณคดีไทย ป้ายโฆษณา ประกาศ

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

         การเข้าใจธรรมชาติของภาษาและการใช้ภาษาไทยในช่วงชั้นนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้นักเรียน
ได้ฝึกการฟัง การดู การพูด การอ่าน และการเขียน ผ่านการเรียนรู้หลักการใช้ภาษาและโครงสร้างภาษาไทยพื้นฐานจากสื่อต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารในบริบทต่าง ๆ และเกิดสมรรถนะการใช้ภาษาในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ ทั้งนี้ การสอนอ่านเขียนในเบื้องต้นเพื่อให้นักเรียนสามารถอ่านเขียนได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน ยังคงเน้นการสอนอ่านเขียนโดยการแจกลูกสะกดคำเป็นหลัก จากนั้นจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าใจความหมายของคำ การนำไปใช้แต่งประโยคอย่างง่ายในบริบทและสถานการณ์ต่าง ๆ  รวมทั้งการใช้ภาษาไทยได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ

         การใช้ภาษาไทยเพื่อให้สามารถสื่อสารได้ในบริบทต่าง ๆ ทั้งการเรียนในชั้นเรียนและทุกเวลาที่ต้องมี
การปฏิสัมพันธ์สื่อสารกับผู้อื่น นักเรียนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาหรือฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ

การเรียนรู้ภาษาไทยในช่วงชั้นที่ 1 นี้ นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านการรับสารต่าง ๆ ทั้งจากการฟัง การดู  และการอ่าน เพื่อให้สามารถส่งสาร คือ การเขียนและการพูดได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคลด้วยเหตุนี้ การออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนอกจากจำเป็นต้องเชื่อมโยงบนฐานของสถานการณ์ หรือบริบทใกล้ตัวแล้ว ยังต้องมีการบูรณาการร่วมกับวิชาอื่น ๆ เช่น

         คณิตศาสตร์  อ่านและเขียนแผนภาพแผนภูมิ แผนผัง ฟัง ดู และอ่านโจทย์คณิตศาสตร์ ตีความ แก้ปัญหา พูดนำเสนอ แสดงวิธีคิด เขียนคำที่สื่อความหมายถึงการบวก การลบ การคูณ การหาร แสดงความสัมพันธ์ของจำนวนที่เป็นรูปธรรม รับฟังและอธิบายให้เหตุผลความสัมพันธ์ของจำนวน

        ภาษาอังกฤษ  เรียนรู้ ฟัง ดู และพูดคำศัพท์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

        ศิลปะ  วาดภาพประกอบคำ ประโยค เรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว และชุมชน แล้วเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับภาพที่ตนวาดขึ้น

        สุขศึกษาและพลศึกษา  พูดนำเสนอความรู้ที่ได้จากการดูคลิปสถานการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลสุขภาพ การรักษาสิ่งแวดล้อม ฟัง ดู และอ่านวิธีการใช้วัสดุ อุปกรณ์ ฉลากต่าง ๆ การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสุขอนามัย อ่านสัญลักษณ์ หรือป้ายเตือนในโรงเรียน และชุมชน

        สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม  อ่านแผนผังโรงเรียน แผนผังหมู่บ้าน ชุมชนที่ตนเองอยู่ อ่าน และเขียนบันทึกรายรับ – รายจ่ายในครัวเรือน เรียนรู้เรื่องราวจากบทอ่านที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวันสำคัญประเพณีและวัฒนธรรม ชุมชน ท้องถิ่น สภาพแวดล้อม ศาสนา พิธีกรรม ประวัติของท้องถิ่น นิทาน ในท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน อ่านข้อมูลจากแผ่นพับสำหรับโฆษณาหรือป้ายโฆษณาสินค้า หรือแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น สภาพอากาศ แผนที่การเดินทาง

        วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ  สืบค้น หาแหล่งข้อมูลที่ต้องการศึกษาได้สอดคล้องกับความต้องการ  หรือได้ตรงตามสถานการณ์ หรือข้อความที่กำหนดให้ สังเกต พูด เขียน หรือวาดภาพเกี่ยวกับพืชและสัตว์              ที่มีในท้องถิ่น สรุปความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้จากปรากฏการณ์ ธรรมชาติ สถานการณ์ ในรูปแบบต่าง ๆ ตามความสนใจ