Competency - based Education
โครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

สาระสำคัญของสาระการเรียนรู้

            ความสำคัญของสาระการเรียนรู้การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการ 

            การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการเป็นสมรรถนะที่ต้องได้รับการสร้างเสริมและลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการทำกิจกรรมและการดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย เป็นระบบ มีประสิทธิภาพด้วยความมั่นใจ

        สาระการเรียนรู้นี้มีสรรมถนะเฉพาะ 4 ด้าน ประกอบด้วย
1) ดูแลบ้านและความเป็นอยู่ของสมาชิกในบ้าน  รวมถึงแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ด้วยความรับผิดชอบและกระตือรือร้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการอยู่ร่วมกันด้วยดีเป็นหลัก
2) ทำงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสร้างงานที่แปลกใหม่หรือต่อยอดจากของเดิมด้วยตนเองหรือร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนและผู้อื่น เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆ ด้วยความรับผิดชอบ ขยัน อดทน มุ่งมั่น ซื่อสัตย์ ประณีต และมีทักษะทางสังคม ในการทำงาน
3) ค้นหาแนวทางและโอกาสในการจัดจำหน่าย หรือสร้างรายได้ตามความสนใจของตนเองและมีเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพสุจริต โดยประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะพื้นฐาน  การเป็นผู้ประกอบการที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาสินค้าและบริการ และ
4) ทำงานโดยใช้ทรัพยากร พลังงานและเทคโนโลยีอย่างรู้คุณค่า พอเพียง เหมาะสมกับสถานะทางเศรษฐกิจ ให้เกิดประโยชน์และคำนึงถึงผลเสียต่อตนเองและส่วนรวม สมรรถนะเฉพาะทั้ง 4 สมรรถนะดังกล่าว มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสมรรถนะหลักทั้ง 6 สมรรถนะและบูรณาการกันเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้น 3 ข้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ของช่วงชั้นนี้

        ผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 2 ทั้ง 3 ข้อ เป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่ต้องคำนึงถึงการบูรณาการสมรรถนะหลักและสมรรถนะเฉพาะด้วย เพื่อให้เมื่อผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นปี นำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นตามที่หลักสูตรกำหนดไว้

         ลักษณะเฉพาะ/ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้

            การเรียนรู้การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการในช่วงชั้นที่ 2 เป็นการเรียนรู้ที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต่อเนื่องเชื่อมโยงจากการเรียนรู้การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการในช่วงชั้นที่ 1 ที่บูรณาการในสาระการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ

        ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาให้เกิดสมรรถนะเฉพาะของการจัดการในครัวเรือนและการประกอบการ จากการเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติ การลงมือทำด้วยตนเองและการสะท้อนผลการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มเติมความรู้
ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และประเมินตนเอง รวมทั้งผลงานอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ ไปพร้อมกับการพัฒนาสมรรถนะการทำงานบ้าน การทำงาน และการประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีทักษะทางสังคม

            จุดเน้นการพัฒนา

         การสอนจัดการในครัวเรือนและการประกอบการในช่วงชั้นที่ 2 เป็นการพัฒนาสมรรถนะผ่านการเรียนรู้หลักการ ขั้นตอน การฝึกปฏิบัติ การลงมือทำทั้งการทำงานบ้าน การทำงาน และการประกอบการ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะการจัดการในครัวเรือนและการประกอบการ

            การจัดการเรียนรู้ในช่วงชั้นที่ ๒ ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เพิ่มเติมและเข้มข้นมากยิ่งขึ้นต่อเนื่องจากการจัดการเรียนรู้ในช่วงชั้นที่ ๑ โดยในช่วงชั้นนี้ ผู้เรียนมีความพร้อมในการเรียนรู้และพัฒนาด้านต่างๆ รวมทั้งผู้เรียนยังสามารถบอกความสนใจของตนเองได้ ครูจึงควรจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายสอดคล้องกับพัฒนาการตามช่วงวัยที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนทั้งในส่วนขององค์ความรู้และทักษะตามหลักสูตรและตามความสนใจเน้นการลงมือทำ ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการต่อยอด

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

 ความรู้ ความเข้าใจ และการมีทักษะการจัดการในครัวเรือนและผู้ประกอบการในช่วงชั้นนี้ เป็นประโยชน์กับผู้เรียน ครอบครัว และผู้อื่น โดยผู้เรียนสามารถนำไปใช้และประยุกต์ใช้ในการดูแลทำงานบ้าน การทำงานและการประกอบการ ได้อย่างถูกต้อง สามารถเชื่อมโยงกับบริบท สถานการณ์และการนำไปใช้ในชีวิตจริง โดยผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ และพัฒนาหรือฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เกิดความคล่องแคล่ว มั่นใจในการทำงาน ต่อยอดสร้างสิ่งต่างๆตามความสนใจและเกิดประโยชน์

การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ

            การเรียนรู้การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการในช่วงชั้นที่ 2 นี้ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ ผ่านการรับ แลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลต่างๆ ทั้งจากการเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติในและนอกห้องเรียน เพื่อให้สามารถทำงานบ้าน ทำงานต่าง ๆ และการประกอบการได้ถูกต้อง เหมาะสม ซึ่งการเรียนรู้การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการ นอกจากจัดให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียนและบริบทความพร้อมต่างๆแล้ว ยังต้องมีการบูรณาการร่วมกับกิจกรรมแนะแนวและสาระการเรียนรู้อื่นๆ เช่น

         กิจกรรมแนะแนว การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จักอาชีพที่หลากหลาย ทั้งอาชีพในท้องถิ่น อาชีพต่างๆ และอาชีพที่สนใจ การสำรวจความสนใจในอาชีพในรูปแบบต่างๆ เช่น การพูดคุยสนทนา การแลกเปลี่ยน การทำแบบวัดแววความสนใจในอาชีพ และสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

            คณิตศาสตร์ การประยุกต์ใช้ความรู้เรื่อง การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย กำไร ขาดทุน ร้อยละ การชั่ง ตวง วัดสารในชีวิตประจำวัน 

          ภาษาไทย ใช้ภาษาในการสื่อสารเพื่อนำเสนอสินค้าอย่างหลากหลาย ทั้งการพูดและการเขียน การติดต่อประสานงานเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การขออนุญาตใช้พื้นที่ขาย การติดต่อขอยืมวัสดุ

            ภาษาอังกฤษ คำศัพท์ ข้อความบนฉลากแนะนำผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใช้อุปกรณ์ การสื่อสารในการทำงานและชีวิตประจำวัน

            สุขศึกษาและพลศึกษา การประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ การดูแลตนเองและผู้อื่นเมื่อเจ็บป่วยอย่างปลอดภัย รวมทั้งการปฐมพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานบ้าน การทำงาน และการประกอบการ

            สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม นำความรู้เรื่องสินค้าและบริการ การทำบัญชีครัวเรือนการเลือกซื้อสินค้าอย่างรู้เท่าทันโฆษณา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเชื่อมโยงมาประยุกต์ใช้ 

            วิทยาศาสตร์และระบบเทคโนโลยี นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานและการผลิตสินค้าและบริการตามความสนใจ

          ศิลปะ ประยุกต์ใช้ความรู้ทางศิลปะ ในการดูแลรักษาจัดบ้านให้สะอาดเป็นระเบียบให้น่าอยู่ ออกแบบสินค้าและบริการให้น่าสนใจ